ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% ในวันจันทร์ (5 ส.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P500 ต่างก็ดิ่งลงอย่างน้อย 3% โดยตลาดถูกกดดันจากการที่นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ขณะที่หุ้นแอปเปิ้ลร่วงลงอย่างหนัก หลังมีรายงานว่าบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ของนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ขายหุ้นในบริษัทแอปเปิ้ลเกือบ 50%
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 38,703.27 จุด ลดลง 1,033.99 จุด หรือ -2.60%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,186.33 จุด ลดลง 160.23 จุด หรือ -3.00% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,200.08 จุด ลดลง 576.08 จุด หรือ -3.43%
ดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ร่วงลงในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด และอัตราว่างงานที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
นักลงทุนมองว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป โดยล่าช้ากว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ขณะที่เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี
นายออสแตน กูลสบี ประธานเฟดสาขาชิคาโกให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box ของสำนักข่าว CNBC เมื่อวานนี้ว่า “เฟดควรมีมาตรการรับมือกับสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ควรที่จะเข้มงวดเกินไปในขณะนี้ โดยภารกิจของเฟดมีความชัดเจนมาก คือการทำให้การจ้างงานสูงสุด รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงิน ดังนั้น ถ้าสถานการณ์โดยรวมเริ่มส่งสัญญาณย่ำแย่ลง เฟดก็ควรจะทำการแก้ไข”
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 86% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 14% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันดังกล่าว
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ โดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มบริการด้านการสื่อสารร่วงลงหนักที่สุด โดยปรับตัวลง 3.78% และ 3.35% ตามลำดับ
ส่วนดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนวันที่ 28 ต.ค. 2563
เทรดเดอร์มองว่า อีกหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นอ่อนแอลงคือการที่นักลงทุนลดการทำโพสิชัน Carry Trade ซึ่งเป็นธุรกรรมการกู้ยืมสกุลเงินของประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่นญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า
หุ้นแอปเปิ้ล ร่วงลง 4.8% หลังจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่าเอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) บ่งชี้ว่า เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ได้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทแอปเปิ้ลลงเกือบ 50% ส่งผลให้กระแสเงินสดของเบิร์กเชียร์พุ่งขึ้นแตะระดับ 2.77 แสนล้านดอลลาร์
หุ้นเคลลาโนวา (Kellanova) ซึ่งเป็นผู้ผลิตมันฝรั่งอบกรอบ Pringles พุ่งขึ้น 16.2% หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า บริษัทมาร์ส (Mars) ซึ่งเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตแบรนด์ดังอย่าง M&M’s และ Snickers กำลังพิจารณาเข้าซื้อกิจการเคลลาโนวา
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.4 ในเดือนก.ค. โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับ 48.8 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51.0 โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 67)
Tags: dowjones, ดาวโจนส์, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก