ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (2 มิ.ย.) ขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลค่าจ้างแรงงานในสหรัฐขยายตัวปานกลางในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังยินดีกับการที่รัฐสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ด้วย
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,762.76 จุด เพิ่มขึ้น 701.19 จุด หรือ +2.12%,
- ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,282.37 จุด เพิ่มขึ้น 61.35 จุด หรือ +1.45% และ
- ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,240.77 จุด เพิ่มขึ้น 139.78 จุด หรือ +1.07%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 2.02%, ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 1.82% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 2.04%
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก โดยกลุ่มวัสดุนำตลาดพุ่งขึ้น 3.4% และหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เพิ่มขึ้น 2.2%
ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดระหว่างวันในรอบ 13 เดือน และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2563
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 339,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง
ตลาดขานรับตัวเลขการจ้างงานดังกล่าว เนื่องจากบ่งชี้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 29
นอกจากนี้ ตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ค.ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 12 เดือน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 341,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
บรรดานักลงทุนยังคงเทน้ำหนักให้กับการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.นี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานล่าสุด
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 71.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ และให้น้ำหนักเพียง 25.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐให้การรับรองร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ และคาดว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวในวันศุกร์ก่อนถึงกำหนดเส้นตายในวันที่ 5 มิ.ย.
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลงในวันศุกร์ ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนี VIX ดิ่งลงสู่ระดับ 14.6 ในวันศุกร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564
สำหรับหุ้นรายตัวนั้น หุ้นแอมะซอน บวก 1.2% ส่วนหุ้นกลุ่มเทเลคอมร่วงลง อาทิ หุ้นเวอไรซอน ร่วง 3.2% ขณะที่หุ้นเอทีแอนด์ทีและหุ้นที-โมบาย ร่วง 3.8% และ 5.6% ตามลำดับ หลังมีรายงานว่า บริษัทแอมะซอน.คอม อิงค์กำลังเจรจากับผู้ให้บริการด้านเทเลคอมของสหรัฐเพื่อเสนอค่าบริการการสื่อสารไร้สายราคาถูกให้กับสมาชิกระบบไพร์ม (Prime) ของแอมะซอน
หุ้นอินวิเดีย คอร์ป ร่วง 1.1% สวนทางตลาด โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันแล้ว หลังจากพุ่งขึ้นก่อนหน้านี้จากความหวังที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับรายได้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอนาคต
สำหรับทิศทางตลาดในระยะต่อไปนั้น นักลงทุนจะรอการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันที่ 13 มิ.ย. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อก่อนเฟดลงมติกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มิ.ย. 66)
Tags: ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นนิวยอร์ก