สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 94.8 หดตัว 3.14% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.65 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัว 14.23%
ขณะที่ดัชนี MPI ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) หดตัวเฉลี่ย 4.49%
ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนพ.ค.66 อยู่ที่ 60.2% และในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 61.04%
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนี MPI เดือนพ.ค.หดตัว มาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวได้ 1.54% และหากพิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยังคงทรงตัว โดยขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 0.003%, รายได้เกษตรกรหดตัว 8.97% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงเปราะบาง แต่ต้องติดตามปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลให้ปริมาณฝนของไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าปกติ และส่งผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
“ดัชนีฯ หดตัวลดลงตามภาวะการส่งออก แต่หากลงไปดูรายละเอียดจะเห็นว่าภาคการผลิตทรงตัวและขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากคือภาคเกษตรจากภาวะเอลนีโญ”
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าว
สำหรับในเดือนมิ.ย. สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักอย่างประเทศจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มการฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกที่หดตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ประกอบกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและงบประมาณปี 2567 อีกทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีโอกาสรุนแรงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ต้องติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าค่าปกติ และมีผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 66)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ส่งออก