สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 87.76 หดตัว 6.27% (YOY) ขณะที่ในปี 2566 ดัชนี MPI อยู่ที่ระดับ 93.05 ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยทั้งปี หดตัว 5.11%
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนธ.ค.66 อยู่ที่ 55.25% และทั้งปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 59.06%
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI ในเดือนธ.ค.66 มีดังนี้
-
การกลั่นน้ำมัน จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซหุงต้มเป็นหลัก ตอบสนองการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงปีก่อนโรงกลั่นเริ่มกลับมาผลิตได้ปกติ หลังหยุดซ่อมบำรุงในช่วงก่อนหน้า
-
สายไฟฟ้า ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ หลังได้รับคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากหน่วยงานการไฟฟ้าของรัฐ และความต้องการใช้ในภาคเอกชนขยายตัว
-
กระดาษคราฟท์ และเยื่อกระดาษ ตามความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากปีก่อน ทำให้มีการเพิ่มคำสั่งซื้อมากขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI ในเดือนธ.ค.66 ได้แก่
-
รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล โดยหดตัวจากตลาดในประเทศ (-30.66%) ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น ประกอบกับราคารถยนต์มือสองปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่
-
น้ำตาล จากการเปิดหีบช้ากว่าปีก่อน 10 วัน รวมถึงมีฝนตกชุกในหลายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการตัดอ้อย บางโรงงานจึงเลื่อนการเปิดหีบออกไป ส่งผลต่อปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานน้อยกว่าปีก่อน
-
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จาก Integrated circuts (IC) และ PCBA เป็นไปตามทิศทางความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI ในปี 2666 ได้แก่ อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน, น้ำตาล และสายไฟ ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง, ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเฟอร์นิเจอร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 67)
Tags: ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ., อุตสาหกรรม