สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ต.ค.67 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัว 0.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 67) หดตัวเฉลี่ย 1.63%
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนต.ค. 67 อยู่ที่ 57.75% ส่วนช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 58.72%
โดยมีปัจจัยกดดัน ได้แก่
– การผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 โดยลดลงจากตลาดภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งการจำหน่ายในประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้ออ่อนแอ หนี้ครัวเรือนสูง และสถานการณ์หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง ทำให้สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง โดยคาดว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อทั้งปีนี้อาจอยู่ที่ระดับ 30-40%
– การเลือกตั้งสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ HDD, ยาง, โทรศัพท์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ไดโอด, หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น ด้วยความสำคัญของสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลกและไทย รวมถึงการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนอย่างเข้มข้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้
– หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อยู่ที่ระดับ 89.6% ของ GDP เนื่องมาจากปัญหาสภาพคล่องในการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ทำให้กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ
– ปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่าสินค้าของไทย โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลกดดันผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามามาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า, เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน, เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า เป็นต้น
หั่นคาดการณ์ MPI ปีนี้เป็น -1.6% GDP ภาคอุตสาหกรรม -1%
ทั้งนี้ สศอ. ปรับประมาณการครั้งสุดท้ายคาดดัชนี MPI ปีนี้ -1.6% (จากประมาณการเดิมที่ -1 ถึง 0%) และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) อุตสาหกรรม -1% (จากประมาณการเดิมที่ -0.5 ถึง 0.5%)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 67)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ., สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรม