ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงกลางเดือนพ.ค. ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เช่น อนุญาตให้ร้านอาหารกลับมานั่งทางที่ร้านได้ ในเงื่อนไขที่กำหนดในพื้นที่เสี่ยง อีกทั้งมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น เติมเงินในโครงการม.33 เรารักกัน และโครงการเราชนะ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยยแต่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 37.3 จากระดับ 37.0 ในเดือนเม.ย. นอกจากนี้เมื่อพิจารณา จากมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำที่ดีขึ้น แต่ดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพ
ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทรงตัวอยู่ที่ระดับเดียวกับเดือนเม.ย.ที่ 39.4 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระดับเงินออมของครัวเรือน โดยดัชนีเงินออมระดับปัจจุบันปรับลดลง 2.3% ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 3.3% โดยเมื่อสอบถามว่าการออมเงินในเดือนพ.ค.เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มีการออมเงินลดลงจากเดือนก่อน 54.9% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากก่อนเกิดการระบาดในระลอกที่ 3 (เดือนมี.ค.) ที่ 43.9%
นอกจากนี้ ผลสำรวจล่าสุดระบุว่า ระดับเงินออมในปัจจุบันของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ (20.5%) จะสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่เดือดร้อนมากเป็นระยะเวลา 3 เดือน ขณะที่ในต่างจังหวัด (19.1%) ได้อีก 1 เดือน ซึ่งคาดว่าเกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกที่สามที่เข้ามากระทบฐานะการเงินของครัวเรือนซ้ำเติมไปจากระลอกที่หนึ่ง และระลอกที่สองที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย ฐานะทางการเงิน ของภาคครัวเรือนในระยะข้างหน้าต่อไป ขณะที่กำลังซื้อยังมีแนวโน้มเปราะบางจากความอ่อนแอในตลาดแรงงาน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้จ่ายของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายลดลง หรือไม่ทำเลยเมื่อเทียบกับการระบาดของโควิด-19 ในครั้งก่อน ๆ โดยเฉพาะการทานอาหารที่ร้าน การซื้ออาหารสดจากซุปเปอร์มาร์เกตด้วยตนเอง รวมถึงการสั่งอาหารออนไลน์
“ผลสำรวจดังกล่าว สอดคล้องไปกับการเปิดเผยข้อมูลของแอปพลิเคชั่นส่งอาหารออนไลน์เจ้าหนึ่งที่ระบุว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามหันมาสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มลดลง หลังผู้บริโภคเปลี่ยนเป็นทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า สะท้อนว่าผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าน้อยลงกว่าเดิม” เอกสารเผยแพร่ระบุ
สถานการณ์โควิด-19 ในระลอกที่ 3 มีความยืดเยื้อ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง ซึ่ง “วัคซีน” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาแก้ไขให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยล่าสุดในวันที่ 7 มิ.ย.64 ไทยได้เริ่มมีการปูพรมฉีดวัคซีนแล้ว หลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 64 ซึ่งยังต้องติดตามการกระจายวัคซีนต่อไป โดยทางรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหากอัตราการฉีดเป็นไปได้ในทิศทางที่รวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มปรับลดลงก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการธุรกิจและภาคครัวเรือนให้กลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงรอยต่อที่สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด มาตรการเยียวยาจากภาครัฐยังคงมีความจำเป็น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งโครงการคนละครึ่ง และการเติมเงินเพิ่มเติมให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงมีโครงการใหม่ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านผู้มีเงินออม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)
Tags: กระตุ้นเศรษฐกิจ, ดัชนีภาวะเศรษฐกิจ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เศรษฐกิจครัวเรือน