นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพ.ค. 67 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่ยังขยายตัวได้ แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
– ภาคตะวันออก
อยู่ที่ระดับ 82.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากมาตรการส่งเสริม พัฒนา และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาครัฐผ่านโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 และความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์และคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่า ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 85.9
– ภาคใต้
อยู่ที่ระดับ 76.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคการลงทุน จากการจัดกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่ผ่านพ้นฤดูมรสุมแล้ว รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินต่างๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อความผันผวนของราคาพลังงาน และทิศทางเศรษฐกิจโลก
– ภาคเหนือ
อยู่ที่ระดับ 74.7 สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากการจัดงานเทศกาล งานประเพณี และการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่จะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยวของภาคเหนือ และภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น จากอุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมและปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัว โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการผลิต และการส่งออกของไทย
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อยู่ที่ระดับ 71.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและภาคเอกชน และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล จะช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่อยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและปัญหาภัยแล้ง
– ภาคตะวันตก
อยู่ที่ระดับ 71.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการและภาคเกษตรกรรม จากมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนภาคเกษตรกรรมและกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัญหาสภาพอากาศที่ร้อน และฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตภาคการเกษตร
– ภาคกลาง
อยู่ที่ระดับ 70.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรและภาคอุตสาหกรรม จากแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารได้ ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกร อาทิ มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามโอกาสเกิดภัยแล้ง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
– เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล
อยู่ที่ระดับ 67.3 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ และภาคการลงทุน ตามแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 67)
Tags: พรชัย ฐีระเวช, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจภูมิภาค