นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนธ.ค. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-29 ธ.ค. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 54.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.3 ในเดือนพ.ย. 66
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.8
– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.4
– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 57.1
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.2
– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.2
– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.4
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. การยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยวให้กับบางประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าครองชีพในการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีขึ้น
2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน
4. การส่งออกของไทยเดือน พ.ย. 66 ขยายตัว 4.9% มูลค่าอยู่ที่ 23,479.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 10.1% มีมูลค่าอยู่ที่ 25,879.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 2,399.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงโดยปรับตัวลดลงประมาณ 0.8 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ณ สิ้นเดือน ต.ค. 66
6. SET Index เดือน ธ.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.67 จุด จาก 1,380.18 ณ สิ้นเดือนพ.ย. 66 เป็น 1,415.85 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 66
7. ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงเดือนธ.ค. แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. สถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและฮามาสในฉนวนกาซายังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง
2. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป
3. ความเสียหายจากภัยธรรมชาติทางภาคใต้ในบางพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วม จนสร้างความเสียหายให้กับประชาชน
4. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่สูดหายใจเข้าไป
5. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 35.466 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 66 เป็น 34.976 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 66 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
6. ต้นทุนทางด้านการเงินของธุรกิจอยู่ในระดับที่สูง
7. ความกังวลในการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 จะล่าช้าออกจนกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
8. ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวและกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น
– มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของธุรกิจ
– การจัดการบริหารน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรและการบริโภคของประชาชน
– ดูแลค่าเงินบาทให้เอื้อต่อธุรกิจส่งออกนำเข้าอย่างเหมาะสม
– ควรเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 เพื่อการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลรวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและพื้นที่
– มาตรการเพิ่มมูลค่าสินค้าของไทย เช่น การหาตลาดต่างประเทศมากขึ้น
– เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติของสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย
– นโยบายและมาตรการผลักดันสินค้าไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นายวชิร ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนธ.ค. ปรับตัวดีขึ้น หลังจากลดลงต่อเนื่องมา 2 เดือนในเดือนต.ค. และพ.ย. โดยเหตุที่ดัชนีฯ เดือนธ.ค. ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเดือนสุดท้ายของปี ที่เป็นช่วงเทศกาลของการจับจายใช้สอยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดถึงสัญญาณความเชื่อมั่นในเดือนม.ค. ต่อเนื่องเดือน ก.พ.ในปีนี้
“ในเดือนธ.ค. เป็นช่วงเทศกาลของการจับจ่ายใช้สอย และมีความคึกคักกันมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ แต่คงต้องรอดูสัญญาณจริงๆ ของทิศทางภาคธุรกิจในเดือนม.ค. และก.พ.นี้” นายวชิร ระบุ
พร้อมเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับนี้ไปก่อน โดยยังไม่มีการปรับลดหรือปรับขึ้น ดังนั้น การจะเห็นธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงนี้ คงยังไม่ได้เห็น แต่ในส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อาจจะได้เห็นการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาต้นทุนการเงินที่อยู่ในระดับสูง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 67)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่น, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, วชิร คูณทวีเทพ, หอการค้าไทย