นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนพ.ค. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 พ.ค. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 53.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 51.9 ในเดือนเม.ย. 66
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 52.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 51.1
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 51.9
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 56.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.5
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 51.3
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 51.8
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 52.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 50.7
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 66 และ 67 ตามลำดับ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2. บรรยากาศการท่องเที่ยวไทยคึกคักต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ
3. SET Index เดือน พ.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.42 จุด จาก 1,529.12 ณ สิ้นเดือนเม.ย. 66 เป็น 1,533.54 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 66
4. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา ประมาณ 0.50 บาท/ลิตร อยู่ที่ระดับลิตรละ 34.88 บาท และ 35.15 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 1.00 บาท/ลิตร โดยอยู่ที่ระดับ 31.94 บาท/ลิตร
5. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 34.285 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 66 เป็น 34.253 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 66
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ 2.0% ต่อปี
2. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน และยังอยู่ในช่วงรอยต่อของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
3. ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์
4. เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง ซึ่งรวมถึงบรรยากาศความตึงเครียดของสงครามรัสเซียและยูเครน
5. ปัญหาค่าเชื้อเพลิง และพลังงาน รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
6. ความกังวลต่อการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
7. การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 66 หดตัว 7.6% มูลค่าอยู่ที่ 21,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 7.3% มีมูลค่าอยู่ที่ 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,471.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
8. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เนื่องจากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนยังต้องระมัดระวังการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ความกังวลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะกระทบกับต้นทุนของธุรกิจเป็นส่วนมาก จึงอยากให้มีการพิจารณาหาวิธีที่เหมาะสมร่วมกัน
- การปรับลดต้นทุนทางด้านธุรกิจต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
- ความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และความพร้อมในการขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐ
- กระจายความเจริญของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ให้มีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับเมืองใหญ่
- ควบคุมป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานภาครัฐ
- ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มกลับมาสูงขึ้น
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในทุกภูมิภาค ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วถึง 12 ล้านคน ทำให้คาดว่าทั้งปีมีโอกาสจะถึง 25-28 ล้านคนได้ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวนี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ซึ่งเป็นผลการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการในทุกภูมิภาคนั้น มองว่าภาคธุรกิจเริ่มมีการฟื้นตัวแล้ว แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ความเชื่อมั่นในส่วนของผู้บริโภค เพราะยังมีปัจจัยเรื่องหนี้ครัวเรือน ปัญหาค่าครองชีพ ทั้งราคาสินค้าและราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง เหล่านี้จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งยังไม่แน่ใจกับเสถียรภาพทางการเมืองในระหว่างที่ยังรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 66)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย, วชิร คูณทวีเทพ, เศรษฐกิจไทย