นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคคะวันออกเฉียงเหนือ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตร จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคกลาง
– ภาคตะวันออก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 79.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ อันเป็นผลจากการจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในช่วงวันหยุดยาว และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน อันเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนเพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่าอยู่ที่ระดับ 83.7 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคการลงทุนเป็นสำคัญ
– ภาคตะวันตก
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 77.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่ และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระยะถัดไป
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 77.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว ซึ่งในหลายจังหวัดของพื้นที่ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมากมาย อาทิ งานเทศกาลไหมนานาชาติ งานเทศกาลหนังเมืองแคน และมีกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลและประเพณีท้องถิ่นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
– ภาคใต้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 75.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ อันเป็นผลมาจากการประกาศใช้มาตรการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวสัญชาติจีน และคาซัคสถาน และการขยายระยะเวลาพำนักในไทย โดยได้รับการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซีย ประกอบกับประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว ซึ่งในหลายพื้นที่ของภาคจะมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงมีงานเทศกาลและงานประเพณีท้องถิ่นต่าง ๆ และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน เนื่องจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนเพื่อรองรับภาคบริการที่ขยายตัว
– กทม. และปริมณฑล
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 74.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน อันเป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักรอัตโนมัติ และซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี เกษตรกรในพื้นที่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และโรคระบาดจากแมลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในฤดูกาลผลิตที่จะมาถึง
– ภาคกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 72.6 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว จึงมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานยอยศยิ่งฟ้า อยุธยามรดกโลก ประจำปี 2566 งานกาชาด และงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน จากมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
อย่างไรก็ดี เกษตรกรในพื้นที่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ และสภาพอากาศที่แปรปรวน
– ภาคเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับ 72.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว รัฐบาลและภาคเอกชนมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
โดยล่าสุด GoBankingRates ได้จัดอันดับให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีอากาศอบอุ่นและประหยัด เหมาะแก่การมาเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 จากทุกเมืองทั่วโลก และความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าจะมีอุปสงค์ในตลาดเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง จากราคาพลังงานและราคาปุ๋ยที่ยังมีความผันผวน และเกษตรกรในพื้นที่ยังคงมีความกังวลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 66)
Tags: กระทรวงการคลัง, การท่องเที่ยว, ดัชนีความเชื่อมั่น, พรชัย ฐีระเวช, ภัยแล้ง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง