ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมี.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 42.0 ลดลงจากเดือนก.พ. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 35.9, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 38.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 51.1
สำหรับปัจจัยลบ ประกอบด้วย ประชาชนกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น, ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง, ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ลงเหลือ 3.2% จากเดิมคาด 3.4%, เงินบาทอ่อนค่าลงจากเดือน ก.พ.
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50%, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการให้แก่ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เช่น การยกเลิกตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าประเทศ 72 ชม. และลดวันกักตัว เป็นต้น, การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั่วโลกในระดับที่มากขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและคลายความกังวลลง, การส่งออกของไทย เดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 16.23% และราคาพืชผลเกษตรหลายรายการยังทรงตัวในระดับสูง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และมีกำลังซื้อมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 65)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย