ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เดือนเม.ย. 65 พบว่า อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยในช่วงวันหยุดสงกรานต์ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ และการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ แต่การฟื้นตัวของธุรกิจถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ปรับขึ้นราคาห้องพักได้ยาก และประชาชนบางส่วนยังลดกิจกรรมท่องเที่ยว สำหรับอัตราการเข้าพักเดือน พ.ค. 65 มีแนวโน้มลดลงตามการเข้าสู่ช่วง Low season
จากผลการสำรวจโรงแรม 76 แห่ง (ไม่รวมโรงแรมที่เป็น AQ, Hospitel และ Hotel Isolation) พบว่า ในเดือนเม.ย. 65 ผู้ประกอบการโรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ย 61% ของช่วงก่อนโควิด ทั้งนี้ การจ้างงานโดยรวมลดลงจากเดือนก่อน จากการจองแบบ Last Minute ทำให้โรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมการจ้างงานไว้ล่วงหน้า ประกอบกับแรงงานบางส่วนลาออกช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับอัตราการเข้าพักในเดือน เม.ย. 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 34% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ 32.7% และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ 18% ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการเข้าพักเดือน พ.ค. 65 จะลดลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30%
ส่วนรายได้ของโรงแรมที่เปิดกิจการ ยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับเดือนก่อน ครึ่งหนึ่งรายได้ยังกลับมาไม่ถึง 30% สอดคล้องกับสภาพคล่องที่ยังต่ำกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง ยังเข้าประเทศไม่มากนัก
ในส่วนของปัจจัยหลักที่กระทบธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน พบว่า กว่าครึ่งหนึ่ง ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ปรับเพิ่มราคาห้องพักได้ยาก และประชาชนบางส่วนยังลดกิจกรรมท่องเที่ยว ส่วนผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นมีไม่มากนัก
สำหรับการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ 3 อันดับแรก พบว่า ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงมาตรการการผ่อนคลายนโยบายเปิดประเทศมากที่สุด รองลงมา คือ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 65)
Tags: HSI, ดัชนีเชื่อมั่นที่พักแรม, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธุรกิจโรงแรม, โรงแรม