นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือนมิถุนายน 2564 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 จากระดับ 64.85 จุด มาอยู่ที่ระดับ 71.74 จุด เพิ่มขึ้น 6.89 จุด หรือคิดเป็น 10.63% โดยมีปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอกใหม่
สำหรับการลงทุนทองคำในเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัวไปในทิศทางเชิงบวก ทั้งนี้หากราคาทองสามารถยืนอยู่เหนือแนวรับที่บริเวณ 1,843 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ได้อย่างแข็งแกร่ง คาดว่าราคาทองจะค่อยๆ ขยับขึ้นทดสอบแนวต้านแรกที่บริเวณ 1,959 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเดือนมกราคม 2564 และเป็นระดับสูงสุดของปี 2564 แม้ว่าแนวโน้มราคาทองจะเป็นบวก แต่นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังแรงขายสลับออกมาหากไม่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติม
สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2564 จะเพิ่มขึ้นมีจำนวน 8 ราย และคาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวน 3 ราย ส่วนที่คาดว่าจะลดลงมีจำนวน 2 ราย
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2564 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,826 – 1,951 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 27,300 – 28,800 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ ขณะที่ค่าเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 30.94 – 31.60 บาท/ดอลลาร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)
Tags: Gold Spot, ดัชนีเชื่อมั่นทองคำ, ทองคำ, ทองคำแท่ง, พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล, ราคาทองคำ, ศูนย์วิจัยทองคำ