ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) เดือนมี.ค. ขยับลงมาอยู่ที่ 33.4 และ จาก 33.9 ในเดือนก.พ. 65 ขณะที่ดัชนี KR-ECI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 36.1 จาก 36.0 ในก.พ. จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังไม่สามารถเจรจากันได้ และยังไม่มีท่าทีหรือจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและเชื่อมโยงมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้ระดับราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกสำคัญอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเดือนมี.ค. 65 ภาครัฐจะออก 10 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาท สำหรับผู้หาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 5,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาตรการดังกล่าวบรรเทาผลกระทบให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงมีความวิตกกังวลต่อระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงราคาพลังงาน สาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน (เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ ไฟฟ้า น้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าโดยสาร)
ทั้งนี้ สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค. ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 5.73%YoY โดยกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ได้แก่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (+31.43%YoY) และสินค้าประเภทอาหาร เช่น อาหารปรุงสำเร็จ (บริโภคในบ้าน) เพิ่มขึ้น 6.15%
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในส่วนมุมมองต่อฝั่งรายได้ยังคงมีแนวโน้มแย่ลง ในขณะที่ภาระในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับดีขึ้นอยู่ที่ 17.6 ในเดือนมี.ค. 65 จาก 18.6 ในเดือนก.พ. 65 (ดัชนีเพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงความกังวลที่ลดลง) ซึ่งมีสาเหตุบางส่วนมาจากที่ครัวเรือนเริ่มผ่อนสินค้าหมดลง และอาจมีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ลง ทั้งจากสถานการณ์สินค้าราคาสูงขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่หมดลงในเดือนธ.ค. 64 และช้อปดีมีคืนที่สิ้นสุดในเดือนก.พ. 65 ที่ผ่านมา
จากมุมมองดังกล่าว สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.พ. ที่รายงานจากธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ที่ระบุว่า ยอดซื้อสินค้าคงทนลดลง -1.7%MoM เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ลดลง คาดว่าปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวคงจะกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่องไปอีกในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวภาวะการจ้างงานพบว่า การจ้างงานยังไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวเต็มที่ โดยแม้ว่าการเลิกจ้างจะอยู่ในระดับต่ำลง โดยในเดือนมี.ค. 65 ปรับลดลงเล็กน้อย แต่การลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (OT) และการชะลอรับพนักงานใหม่ยังปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง)
สำหรับปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อระดับรายได้ของครัวเรือนต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน โดยได้มีการสอบเพิ่มเติมถึงมาตรการภาครัฐที่ครัวเรือนอยากให้เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบพบว่า ครัวเรือนส่วนมาก 39.2% ต้องการให้มีมาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะที่ 23.9% ต้องการต่ออายุมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 5 หลังมาตรการคนละครึ่งระยะที่ 4 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.65 นี้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณานโยบายบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์สินค้าราคาสูงที่ได้มีการดำเนินการแล้ว เบื้องต้นภาครัฐได้ออก 10 มาตรการบรรเทาค่าครองชีพ โดยเน้นบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มคนเฉพาะ ขณะที่มีการปรับลดลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 เพื่อให้มีสภาพคล่องในการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการภาครัฐเพิ่มเติมในการช่วยบรรเทาผลกระทบของภาระการครองชีพของครัวเรือน ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาสินค้าและภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้าสถานการณ์ราคาสินค้าราคาสูง ยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงในระยะอันใกล้ แม้การเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีความคืบหน้า แต่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียน่าจะยังคงอยู่ต่อไปตลอดทั้งปี ดังนั้น ระดับราคาพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในฝั่งของราคาอาหาร เช่น เนื้อสัตว์และผัดสดยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาอาหารสัตว์และราคาปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน โดยเมื่อพิจารณาในฝั่งราคาต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ จากทางฝั่งผู้ประกอบการผ่านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมี.ค. ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 11.4% จึงเริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นมาสู่ผู้บริโภคมากขึ้น
“ในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากสถานการณ์สินค้าราคาสูง โดยภาครัฐจะสิ้นสุดการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหลังสิ้นเดือนเม.ย. 65 ขณะที่ราคาก๊าซและค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากนี้จึงอาจจะเริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคมากขึ้น”
บทวิเคราะห์ ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มพุ่งสูงเหนือระดับ 25,000 รายต่อวัน (ไม่รวม Antigen Test Kit: ATK) ขณะที่ยังต้องติดตามในช่วงหลังเทศกาล ที่กระทรวงสาธารณสุขคาดว่า จำนวนผู้ติดเชื้อมีโอกาสเพิ่มขึ้นราว 50,000-100,000 รายต่อวัน
“ดัชนี KR-ECI ในระดับปัจจุบัน (มี.ค. 65) ขยับลงอยู่ที่ 33.4 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าสถานการณ์สินค้าราคาสูงในช่วงที่กำลังซื้อยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน ดังนั้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางมาตรการจากภาครัฐจึงมีความจำเป็น ที่จะเข้ามาประคับประคองและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: KR-ECI, ค่าครองชีพ, ภาวะเศรษฐกิจ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, อัตราเงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย