อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภท 3 เดือนของฮ่องกง หรือ HIBOR ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนในการระดมทุนของฮ่องกง พุ่งขึ้น 0.15% แตะระดับ 5.53% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2550 เนื่องจากความต้องการเงินสดในช่วงปลายปีปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดอินเตอร์แบงก์ของฮ่องกงอยู่ในภาวะตึงตัวมากขึ้นในขณะนี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความต้องการสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงพุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสถาบันการเงินพากันตุนเงินสดเพื่อรับมือกับข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของฮ่องกง ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากระบบอินเตอร์แบงก์จำนวนมาก
ทั้งนี้ ฮ่องกงมักเผชิญปัญหาอุปทานเงินสดตึงตัวในช่วงปลายปี เนื่องจากสถาบันการเงินต้องเร่งตุนเงินสดเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย HIBOR ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนท้าย ๆ ของปี ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สภาพคล่องในระบบอินเตอร์แบงก์ของฮ่องกงดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี
ธนาคารกลางฮ่องกงได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.75% เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายตามทิศทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ประกาศคงดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐในกรอบ 7.75-7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารกลางฮ่องกงระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงยังคงมีเสถียรภาพ และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (Interbank Rate) อาจยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 66)
Tags: อัตราดอกเบี้ย, อินเตอร์แบงก์, ฮ่องกง