นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์เชิงลึกถึงปรากฏการณ์สำคัญที่ NVIDIA บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI ระดับโลกเลือกลงทุนในเวียดนาม พร้อมตั้งคำถามชวนคิดว่า ไทยจะรับมืออย่างไรเมื่อเวียดนามกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจแห่งอาเซียน
นายสุชัชวีร์ ระบุว่า ได้ยินจากปากนายเจนเช่น หวง ประธานบริหาร Nvidia บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่าจะไปเปิดศูนย์ออกแบบและวิจัยที่เวียดนาม ก่อนที่ Nvidia จะประกาศอย่างเป็นทางการ จึงถามกลับทันทีว่าเวียดนามเสนอให้อะไรถึงได้ตัดสินใจเข้าไปลงทุนศูนย์ออกแบบ ที่เป็นหัวใจและมันสมองของอุตสาหกรรมไฮเทคที่ทุกคนหวงแหน แต่คนสนิทของนายเจนเซ่น หวง ขยับห้ามไม่ให้นายพูดอะไรต่อ นายเจนเซ่นจึงตอบเพียงว่า “มันไม่สำคัญหรอก” (ไทยอย่าไปรู้เลย)
“แต่ผมรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะผมในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย “CMKL” ที่ Carnegie Mellon สถาบันระดับโลกด้าน AI มาก่อตั้งร่วม เราเป็น “ลูกค้าคนแรก” ที่ซื้อ “ซุปเปอร์ AI คอมพิวเตอร์” รุ่น DGX-A100 ความเร็วสูงสุดในประเทศจาก Nvidia เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยิ่งผมนั่งตรงข้าม “ตามองตา” กับ “เจนเซ่น หวง” เราเป็นพันธมิตรกันมาหลายปี “รู้กัน” จึงตอบคำถามได้ไม่ยาก”
นายสุชัชวีร์ ระบุว่า มี 4 ปัจจัยที่ทำให้บริษัทระดับโลกไปลงทุนที่เวียดนาม
-
เวียดนามพัฒนาคุณภาพคน ประสบการณ์พบว่า “เด็กเวียดนาม” ฉลาด เก่ง และขยันมากกว่า ทั้งคะแนนวัดผล PISA ชี้ชัดว่าเด็กเวียดนามได้คะแนนสูงที่สุดในอาเซียน เป็นรองเพียงเด็กสิงคโปร์เท่านั้น และเวียดนามยังส่งเด็กรุ่นใหม่ไปเรียนในสาขาวิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยระดับโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย มากกว่าชาติใดในอาเซียน เพื่อกลับมาสร้าง “นวัตกรรม” พัฒนาเวียดนามสู่โลก AI เต็มรูปแบบ เป็นการพิสูจน์ว่าเวียดนามทุ่มเทพัฒนาคุณภาพคนตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอก จึงไม่แปลกที่บริษัทไฮเทค ทั้ง Nvidia Apple และ Samsung ถึงยอมมาลงทุนที่เวียดนาม เพราะได้ “คนเก่ง” ที่คุ้มค่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับ “ค่าจ้าง”
-
เวียดนามสนับสนุนการลงทุน เพราะเวียดนามเรียนรู้จาก “จีน” เรื่องการดึงดูดทุนต่างชาติ ด้วยวิธี “วันนี้ฉันยอมเธอก่อน วันหน้าฉันทำได้เอง แล้วค่อยว่ากัน” คือ ยอมสนับสนุนให้สิทธิพิเศษมากมาย เมื่อบริษัทไฮเทคมาลงทุนสร้างโรงงานหรือศูนย์วิจัย ก็ได้ให้ SME เวียดนามได้เป็น Supplier เรียนรู้จนทำได้เองในที่สุด เลียนแบบกรณีจีนยอมให้ Tesla มาตั้งโรงงานเพื่อให้ SME จีนเรียนรู้ สุดท้ายจีนกลายเป็น “เจ้าตลาด” รถพลังงานไฟฟ้าไปเรียบร้อย
-
เวียดนามมีนโยบายต่อเนื่อง ไม่ว่าผู้นำจะเป็นใครแต่นโยบายไม่เปลี่ยน ยังสานต่อสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1986 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม เปิดประเทศให้กับการลงทุนจากต่างชาติ นโยบายนี้จึงเดินไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเวียดนามเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2007 ซึ่งช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เวียดนามได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Zones) ตามแบบจีน ยิ่งเกิดการลงทุนแบบก้าวกระโดด จนถึงทุกวันนี้
-
เวียดนามสามัคคี ช่วยเหลือกัน ด้วยความที่เป็นประเทศสังคมนิยมที่บอบซ้ำจากสงครามยาวนาน เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และเคยอยูใต้อิทธิพลของจีนมานานนับพันปี แต่วันนี้ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดทั้งด้านเศรษฐกิจ เพราะรู้ว่าทางรอดมีทางเดียว คือ “ชาตินิยม” คนเวียดนามไม่ว่าอยู่ที่ใดจึง “รวมกันติด” และ “ช่วยเหลือกัน” ผลักดัน “ทุกรูปแบบ” ให้รัฐบาลสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย ต้องสนับสนุนเวียดนาม
นายสุชัชวีร์ ระบุว่า ชาตินิยมแบบเวียดนาม จึงเป็นความรักชาติที่กลมกล่อม ไม่ไปรุกรานใคร แต่ก็พร้อมจะแข่งขันกับทุกคน ขอพยาการณ์ว่า เวียดนามจะเป็น “ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน” และอาจขึ้นเทียบชั้นกับ “เกาหลี” ในอนาคตได้
“ที่จริงไทยเราจับสัญญาณการก้าวกระโดดของเวียดนามได้มาพักใหญ่ เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงชัดเจนมาก อย่างต่อเนื่อง แต่ไทยเรายังนิ่งไม่เข้าสู่โหมดแข่งขันอย่างจริงจังสักที ทำให้เสียโอกาสไปทุกวัน ที่ไม่อาจย้อนคืน แม้ผมยังเชื่อมั่นว่า #คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ก็กังวลไม่น้อย เมื่อรู้แจ้งว่า เวียดนามและชาติอื่น ไม่มีใครอยู่นิ่งเลย ทุกชาติทุ่มสุดตัวพร้อมแข่งขัน แล้วไทยจะทำอย่างไร”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 67)
Tags: Nvidia, ดร.เอ้, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, เวียดนาม, เศรษฐกิจไทย