สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นรายงานจำนวนผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (STSS) หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating bacteria) เกิน 1,000 รายแล้วในปี 2567 โดยนับจนถึงวันที่ 9 มิ.ย. มีจำนวนผู้ป่วยรวมอยู่ที่ 1,019 ราย
สถาบันฯ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) ว่า แบคทีเรียรุนแรงชนิดนี้แพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นโรคที่เริ่มเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน มีสาเหตุหลักมาจากเชื้อสเตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Group A Streptococcus) อาการเริ่มแรกมักประกอบด้วยอาการเจ็บคอ มีไข้ เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน และปัญหาระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ รวมถึงสัญญาณของอาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างภาวะความดันโลหิตต่ำอีกด้วย
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจทำให้เนื้อเยื่ออ่อนเสียหาย ระบบหายใจล้มเหลว ตับวาย ไตวาย และอวัยวะหลายส่วนล้มเหลว โดยมีอัตราการเสียชีวิตเกิน 30%
ญี่ปุ่นพบผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างมากในปีนี้ โดยมีรายงานผู้ป่วยสะสมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 977 รายนับถึงวันที่ 2 มิ.ย. ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ป่วย 941 รายตลอดทั้งปีที่แล้ว
รายงานแนวโน้มโรคติดเชื้อรายสัปดาห์จากสถาบันฯ ช่วงวันที่ 3-9 มิ.ย. เผยว่ากรุงโตเกียวมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันมากที่สุดในปีนี้ที่ 150 ราย รองลงมาคือจังหวัดไอจิที่มีผู้ป่วย 69 ราย และจังหวัดไซตามะ 68 ราย
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อ มักแพร่กระจายผ่านละอองฝอย (Droplet) จากสารเมือกในจมูกหรือลำคอ และผ่านการสัมผัสกับบาดแผล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ผู้คนมักเข้าใจผิดว่าอาการเริ่มแรกของการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นไข้หวัด เนื่องจากมีอาการป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะนำว่าหากมีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการเพ้อหรือมีรอยแดงที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วรอบ ๆ บาดแผล ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการลุกลามของโรคที่อาจคุกคามถึงชีวิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 67)
Tags: XINHUA, ญี่ปุ่น, แบคทีเรียกินเนื้อ, แบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส