ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สหรัฐจ่อพบ “โมดี” ที่ทำเนียบขาว

ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัว บรรดาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐกำลังให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวพบปะกับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียซึ่งอยู่ในระหว่างการเยือนทำเนียบขาว รวมถึงการเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในคืนวันพฤหัสบดี (22 มิ.ย.) นี้ด้วย

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า นายทิม คุก ซีอีโอของบริษัทแอปเปิ้ล, นายซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิล, นายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ และนายราช สุบรามาเนียม ซีอีโอของเฟดเอ็กซ์ เป็นหนึ่งในบรรดาซีอีโอบริษัทใหญ่ของสหรัฐที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบขาวในคืนวันพฤหัสบดี

อินเดียมองว่างานเลี้ยงอาหารค่ำดังกล่าวถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ

“นี่เป็นโอกาสครั้งใหญ่มาก คณะบริหารของสหรัฐกำลังทำทุกอย่างเพื่อให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีโมดีเป็นไปอย่างดีเยี่ยมที่สุด” นายแฟรงค์ วิสเนอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอินเดียกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ซีอีโอของบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่มีสาขาในอินเดียที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว รวมถึง นายโทนี คาปูอาโอ ซีอีโอของบริษัทแมริออท และนางเจนนิเฟอร์ รัมซีย์ ซีอีโอของบริษัทคัมมินส์

ข้อตกลงครั้งใหญ่ที่สุดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างการเยือนทำเนียบขาวของนายโมดีก็คือ การประกาศความร่วมมือการผลิตเครื่องยนต์ไอพ่นสำหรับเครื่องบินทหารในอินเดีย ระหว่างบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริค (GE) ของสหรัฐกับบริษัทฮินดูสถาน แอโรนอติกส์ (Hindustan Aeronautics) ของอินเดีย

“การกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมและด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐและอินเดีย คาดว่าจะเป็นผลพลอยได้ครั้งสำคัญสำหรับการเดินทางเยือนของนายโมดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแบ่งปันเทคโนโลยีที่สำคัญและอุปกรณ์การป้องกันไอพี” นางซาฟียา โกรี-ฮาห์หมัด เจ้าหน้าที่คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ (NAC) ผู้เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมมาธิการฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ กล่าว

การเดินทางเยือนสหรัฐของนายโมดี มีขึ้นหลังจากการประชุมระหว่างนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) ด้วยจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยประเด็นเกี่ยวกับจีนนั้น เป็นหนึ่งในวาระการประชุมในการหารือระหว่างนายโมดี และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันที่ 22 – 23 มิ.ย.ด้วย

ทั้งนี้ การที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวและความตึงเครียดทางการเมืองที่อยู่ในระดับสูง บรรดาบริษัทในสหรัฐจึงถอยออกจากจีนเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับนายโมดีเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า นายโมดีคาดหวังว่าจะคลายความกังวลเหล่านั้น และคาดว่าบริษัทสหรัฐจะสร้างฐานการผลิตที่อินเดียด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,