ประธานาธิบดีซิมบับเวประกาศภาวะภัยพิบัติระดับชาติจากวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลผลิตทางการเกษตรของซิมบับเว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (3 เม.ย.) ว่า ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สองประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาลาวีและแซมเบีย ได้ประกาศภาวะภัยพิบัติระดับชาติเมื่อเดือนที่แล้ว โดยสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารหลัก รวมถึงธัญพืชอื่น ๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ครัวเรือนยากจน โดยปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนีโญ (El Niño) เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้พื้นที่ทางตอนใต้ของแอฟริกามีเดือนก.พ.ที่แห้งแล้งที่สุดในรอบหลายทศวรรษปีนี้
นายเอ็มเมอร์สัน เอ็มนันกักวา ประธานาธิบดีซิมบับเว กล่าวในกรุงฮาราเรในวันนี้ว่า “กว่า 80% ของพื้นที่ในประเทศได้รับปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติ ชาติของเรากำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนธัญพืชที่เป็นอาหารหลัก เราจะต้องนำเข้าธัญพืชเพื่อทดแทนปริมาณที่ขาดแคลน” พร้อมเสริมว่า ซิมบับเวจำเป็นต้องใช้เงินถึง 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อบรรเทาผลกระทบของภัยแล้งในครั้งนี้
กระทรวงเกษตรของซิมบับเวรายงานว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดกว่า 12% ถูกทำลายจากช่วงฝนทิ้ง (Dry spell) ปกติแล้วซิมบับเวบริโภคธัญพืชราว 2.2 ล้านตันต่อปี โดยใช้เพื่อการบริโภคโดยตรง 1.8 ล้านตัน และใช้เป็นอาหารสัตว์ 4 แสนตัน
ปธน.เอ็มนันกักวายังกล่าวด้วยว่า แผนการส่งออกข้าวโพดและข้าวสาลีจากผลผลิตส่วนเกินจากฤดูกาลที่ผ่านมา เพื่อส่งไปยังรวันดาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกนั้น จำเป็นต้องหยุดไว้ชั่วคราว
ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านได้ส่งสัญญาณว่า อาจมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวโพดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 67)