วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ประกาศรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลมีมติให้ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2567 ซึ่งเป็นนักการเงินแห่งปีคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งนี้ถึง 3 ครั้ง ด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักการเงินแห่งปีครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ด้าน เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ สร้างความเติบโตยั่งยืนให้กับองค์กร รับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
ปีนี้เป็นปีที่ 42 ปีแล้วที่ วารสารการเงินธนาคาร ได้มอบรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” Financier of the Year เพื่อยกย่องผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่มีผลงานโดดเด่น มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทันสมัย สามารถขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าและยั่งยืนในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
สำหรับปี 2567 คณะกรรมการตัดสินรางวัลเกียรติยศ “นักการเงินแห่งปี” มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายชาติศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ครองตำแหน่งนักการเงินแห่งปี 2567 ด้วยผลงานที่โดดเด่นผ่านคุณสมบัติการเป็นนักการเงินแห่งปี ตามหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ด้าน คือ 1.เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย 2.เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ 3.เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตและยั่งยืนให้กับองค์กร และ 4.เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
นายชาติศิริ เป็นนักการเงินแห่งปีคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งถึง 3 ครั้ง โดยเป็นนักการเงินแห่งปีครั้งแรกในปี 2544 ต่อมาครองตำแหน่งเป็นครั้งที่สองในปี 2562 และมาล่าสุดในปี 2567 ได้ครองตำแหน่งเป็นครั้งที่สาม
1.เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลและทันสมัย ตลอด 30 ปีของการเข้ามารับภารกิจนำทัพธนาคารกรุงเทพในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายชาติศิริ มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการปักหมุดให้ธนาคารกรุงเทพก้าวเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาค” (Regional Bank) เสริมสร้างรากฐานของธนาคารเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพที่มีอายุครบ 80 ปีในปีนี้ เติบโตเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในประเทศถึง 4.5 ล้านล้านบาท
และเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของอาเซียนที่มีเครือข่ายต่างประเทศครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลก ได้แก่ กัมพูชา จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รวมทั้งยังมีบริษัทย่อยในต่างประเทศ ประกอบด้วย บางกอก แบงก์ เบอร์ฮาด ที่มีสาขา 5 แห่งทั่วประเทศมาเลเซีย ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด ที่มีสาขา 5 แห่งในเมืองหลักๆ ของประเทศจีน และธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค ธนาคารที่มีขนาดใหญ่อันดับ 8 ของประเทศอินโดนีเซีย
ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ ยังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจขยายสาขาไปยังประเทศอินเดีย เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าและนักลงทุนที่กำลังเติบโตสูงในตลาดที่มีศักยภาพนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารแรกของไทยที่เป็นมีสถานะเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคอย่างแท้จริง
และจากกระแส Digital Disruption ที่รุกเข้ามาในโลกของธุรกิจการเงิน นายชาติศิริ ตระหนักดีว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ธนาคารจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือบริบทใหม่นี้ โดยกำหนดเป้าหมายให้ ธนาคารกรุงเทพ เป็น “องค์กรอัจฉริยะ” ขยายการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และซอฟต์แวร์บอตทำงานอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล
นอกจากนี้ ธนาคารยังใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เช่น Data Lake และศูนย์ความเป็นเลิศด้านคลาวด์ (Cloud Center of Excellence) เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีเทคโนโลยีและทักษะที่เหมาะสมในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศไทย
2. เป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ นายชาติศิริได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นนักการเงินมืออาชีพที่มีความซื่อสัตย์ ต่อวิชาชีพตลอด 3 ทศวรรษที่ก้าวเข้ามาบริหารธนาคารกรุงเทพ ด้วยการยึดหัวใจหลักของการบริหารงานที่มุ่งเน้นเรื่อง “ความมั่นคงและก้าวหน้าอย่างมีสถียรภาพ” โดยดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง และตัดสินใจทางธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งธนาคาร ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว “การบริหารความเสี่ยง” เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยป้องกันหรือบรรเทาความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจ และความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ดังนั้น ภายใต้การนำของชาติศิริจึงได้ปลูกฝังวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินธุรกิจของธนาคารต่อความเสี่ยง และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกสถานการณ์
นอกจากนี้ นายชาติศิริยังสร้างให้ธนาคารกรุงเทพมี “วัฒนธรรมองค์กรด้านธรรมาภิบาลที่ดี” ทั้งในระดับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการของธนาคารอย่างเคร่งครัด
3. เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร นายชาติศิริได้ยึดถือเจตนารมณ์ของการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ซึ่งจากเจตนารมณ์ที่แน่วแน่นี้นำไปสู่แนวนโยบายในการบริหารงานและกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของธนาคารที่สามารถสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สำหรับในปี 2567 นี้ นายชาติศิริ ได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้น Key Business Focus 5 ด้าน ได้แก่ 1.การเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการขยายฐานลูกค้าในภาคธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน 2.พันธมิตรด้านแพลตฟอร์ม โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม และเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างทันสถานการณ์
3.ความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงิน โดยนำเสนอบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัวในอนาคต 4.องค์กรอัจฉริยะ โดยพัฒนาศักยภาพด้านข้อมูล ซึ่งช่วยให้ธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และ 5.การปรับรูปแบบธุรกิจ โดยประสานความร่วมมือและนำวิธีการแบบใหม่มาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน
นายชาติศิริ ยังมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายในด้วยยุทธศาสตร์ “One Family One Team” ที่ส่งเสริมให้บุคลากรของธนาคาร ธนาคารในเครือ และบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคาร ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ การมอบบริการที่เป็นเลิศด้วยคุณภาพและน้ำใจให้แก่ลูกค้าอย่างไร้รอยต่อ ทุกที่ทุกเวลา
ด้วยความมุ่งมั่นของนายชาติศิริในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 4,475,155 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย และสามารถสร้างผลกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 จำนวน 34,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.2% พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และดำรงเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงถึง 20.8% เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
4. เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และทำคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม ธนาคารกรุงเทพภายใต้การนำของนายชาติศิริยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG ครอบคลุมมิตติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่า ESG จะทำให้ธนาคารเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยได้กำหนดนโยบายด้านความยั่งยืนและวางกรอบการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวคิด ‘Creating Value for a Sustainable Future สรรค์สร้างคุณค่าเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน’ เพื่อตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงความยั่งยืนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ ธนาคารยังดำเนินการอีกหลากหลายกิจกรรมด้านการเสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่บุคลากรของธนาคาร ชุมชนในพื้นที่ประกอบการ และสังคมในวงกว้าง ด้วยโครงการ Bualuang Save the Earth ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบสำหรับกิจกรรมรักษ์โลกที่มุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 67)
Tags: BBL, ชาติศิริ โสภณพนิช, ธนาคารกรุงเทพ, นักการเงินแห่งปี, วารสารการเงินธนาคาร, หุ้นไทย