นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ผลักดันให้กรุงเทพเป็น Fintech Hub เนื่องจากไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินที่แข็งแกร่ง ตลาดทุนมีสภาพคล่องสูง และบริษัทจดทะเบียนไทยมีการบริหารเพื่อความยั่งยืนที่อยู่ในดัชนี DJSI สูงมาก ความพร้อมของคนไทยในการใช้บริการด้าน Fintech ทั้งบริการที่มีอยู่เดิม และบริการที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ มีจำนวนผู้ใช้และมีการใช้ Mobile Banking สูงมากอันดับต้นๆของโลก อีกทั้ง ไทยกำลังดำเนินการโครงการสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางหรือ CBDC ที่ไทยกำลังเชื่อมกับฮ่อง จีน และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และอนาคตก็จะเชื่อมต่อกับอีกหลายประเทศ
นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของกรุงเทพที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และมีเชียงใหม่กับภูเก็ตเป็นหัวเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ ขณะเดียวกันความหลากหลายของการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งรองรับทั้งการทำงานและการพักผ่อนหย่อนใจ อีกทั้งความเป็นไทยที่เข้าได้กับทุกฝ่าย ประสานงานกับชาติไหนก็ได้ ลดความเสี่ยงด้าน Geopolitical Risk
นายชลเดช กล่าวว่า ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการเข้ามาตั้งสำนักงานและประกอบธุรกิจของบริษัท Fintech จากนานาชาติ เริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแบบ Online One-stop Service ที่รวดเร็วและรองรับภาษาอังกฤษ การเปิดบัญชีธนาคารแบบ Online สำหรับนิติบุคคล ความสะดวกและข้อจำกัดที่น้อยลงสำหรับการจ้างงานชาวต่างชาติ บริการที่ปรึกษาด้านบัญชี กฎหมาย และใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่แกี่ยวข้อง
รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ในกรุงเทพบริเวณใดบริเวณหนึ่งหรือกลุ่มอาคาร หรือถนนให้เป็น Fintech Hub หรือ Fintech Street ในเชิงสัญลักษณ์ ใช้พื้นที่นี้ดึงดูดบริษัทด้าน Fintech และใช้เป็น Sandbox Zone สำหรับการทดลองให้บริการด้านการเงินใหม่ๆ
มหาวิทยาลัยควรร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อออกแบบหลักสูตรหรือวิชาสำหรับสร้างบุคลากรด้าน Fintech โดยเฉพาะในสาขาการเงิน บัญชี บริหารธุรกิจ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ทุกภาคส่วนควรช่วยกันสนับสนุนด้านเงินลงทุน การให้ทุน สิทธิประโยชน์ด้านภาษี คำปรึกษา และความช่วยเหลืออื่น ๆ
สำหรับบริษัทด้าน Fintech ที่เป็นธรรมสำหรับทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศ โดยสิ่งสำคัญคือการสื่อสารโครงการดังกล่าวไปยังกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ
นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย กล่าวว่า หากเราประสบความสำเร็จในการเชิญชวนบริษัทด้าน Fintech จากนานาชาติให้มาตั้งสำนักงานในไทยได้แล้ว ประโยชน์ทางตรงที่จะได้คือเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
ในระยะกลางเราจะเป็นแหล่งรวมของบุคลากรชั้นนำด้าน Fintech ที่จะช่วยสร้างเด็กรุ่นใหม่ในประเทศก้าวขึ้นมาเป็น Fintech Talent ในระดับโลก คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศกับบริษัทชั้นนำมีโอกาสที่จะได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิดเพื่อพัฒนาประเทศ
ในโอกาสต่อไป
ในระยะยาว บริการด้าน Fintech ใหม่ ๆ จากบุคลากรและบริษัทเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศแก้ Pain Points ที่สำคัญได้ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือน หนี้นอกระบบ ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคง ความไม่พร้อมสำหรับการเกษียณ เป็นต้น ประโยชน์จากการเป็น Fintech Hub นี้จะมีส่วนช่วยสำคัญต่อทั้งนวัตกรรมทางการเงินและการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
“ผมว่าหากรอบนี้เราไม่สามารถเป็น Fintech Hub ก็ไม่รู้จะต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะมีโอกาส … ตอนนี้เราก็รอรัฐบาลใหม่ ถ้ามีการจัดตั้งแล้วเราจะเข้าไปนำเสนอ รมว.คลัง หรือไม่ก็ รมว.ดีอีเอส (ก.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)” นายชลเดช กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 66)
Tags: Fintech Hub, กรุงเทพมหานคร, ชลเดช เขมะรัตนา, ฟินเทค (ประเทศไทย), รัฐบาล