“จุลพันธ์” แจงกระทู้ สว. เร่งสังคายนา กม.อุดช่องโหว่ “แชร์ลูกโซ่” คาดไม่เกิน 3 เดือน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงที่ประชุมวุฒิสภาช่วงกระทู้ถามด้วยวาจา ต่อประเด็นการแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ และการประกอบธุรกิจที่มีผลกระทบต่อประชาชน กรณีปัญหาของบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ปว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวมถึงกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาการปรับแก้ไขกฎหมายที่มีความจำเป็นเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น

โดยกรณีของดิไอคอนนั้น เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545, พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522, ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499, พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560, พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากฎหมายหลายฉบับถึงวาระที่จะต้องมาพิจารณาทบทวน

“เบื้องต้นได้หารือถึงตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่ ถึงวาระแล้วหรือยังที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.ก.ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2527 ในหลายประเด็น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่าง ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด และกลไกต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน สุดท้ายต้องเข้ามาสู่กระบวนการตรวจร่าง โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้า ครม.แล้วประกาศใช้ จากนั้นถึงจะเข้าสู่สภาฯ และวุฒิสภา เพื่ออนุมัติต่อไป เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ก็จะดำเนินการแล้วเสร็จ เพราะเรื่องนี้ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน” นายจุลพันธ์ กล่าว

พร้อมชี้แจงต่อว่า ในการแก้ไขกฎหมายนั้น เบื้องต้นตั้งโจทย์ไว้ว่า ให้หน่วยงานที่สามารถเอาผิดไปถึงแม่ข่ายได้ทุกระดับ และเพิ่มโทษให้ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กรณีที่มีคนเข้ามาแจ้งความคดีเพิ่มเติม รวมถึงต้องปรับแก้เรื่องของอายุความ เมื่อคดีเข้าสู่อายุความแล้วกฎหมายของ ป.ป.ง. ก็ดำเนินการต่อทันทีเกี่ยวกับอายัดทรัพย์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ขณะที่ผู้รักษาการตามกฏหมายต้องเปลี่ยน โดยตนมองว่ากลไกที่จะมีประโยชน์สูงสุด คือ กระทรวงยุติธรรม หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และต้องดำเนินการในรูปแบบ One Stop ให้กับประชาชนที่เดือดร้อนได้

ขณะเดียวกัน ต้องปรับแก้เรื่องของการฟ้องล้มละลายให้เปิดกว้างมากขึ้น อาจจะให้ ตร. เข้ามาดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไปได้ และสุดท้ายที่สำคัญ คือ การปรับแก้เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ต้องยอมรับว่ารูปแบบในการฉ้อโกง และแชร์ต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปมาก และมีรูปแบบที่หลากหลาย ดังนั้นต้องปิดช่องโหว่ต่าง ๆ หวังว่าการแก้ไขที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน จะสามารถป้องกันการฉ้อโกงในประเภทต่าง ๆได้ต่อไป” รมช.คลัง ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ต.ค. 67)

Tags: , , ,