นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ 3% แต่ถือว่ายังไม่ใช่ระดับที่น่าพอใจ เพราะรัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดัน และสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ถึง 3.5% ผ่านแนวทางการบริหารต่าง ๆ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน หากปีนี้ทำให้ได้ 80% จากเป้าหมายที่ 75% จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มได้ 0.11% รวมถึงติดตามกระบวนการใช้จ่ายเงิน และอุดรูรั่วต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มได้ 0.1% จากกรณีปกติ
นอกจากนี้ ยังเร่งรัดโครงการลงทุนของภาครัฐ เช่น โครงการบ้านเพื่อคนไทย ที่จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่มได้ 0.002% กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มอีก 5 แสนราย จากเป้าหมายที่ 38.5 ล้านราย จะช่วยให้ GDP ขยายตัวเพิ่ม 0.15% และเร่งรัดโครงการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่ขณะนี้มีการยื่นคำขอมาแล้ว 1.3 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้หากผลักดันให้เกิดการลงทุนได้จริง ราว 7.5 หมื่นล้านบาท จะช่วยสนับสนุน GDP ได้ 0.19%
“เราเป็นประเทศที่มีศักยภาพ รัฐบาลรับรู้ได้ถึงศักยภาพดังกล่าว และพร้อมที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทย จากการพยายามผลักดันมาตรการต่าง ๆ และสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็น คืออยากเห็น GDP ของไทยขยายตัวได้ถึง 5% เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเราสามารถเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่” รมช.คลัง กล่าว
- ตั้งวอร์รูมจับตา Trade War รอบใหม่ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
พร้อมระบุว่า ยังมีปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก สงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งรัฐบาลมีความเป็นห่วงในประเด็นดังกล่าว โดยกระทรวงการคลังได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แต่ไม่อยากให้มองว่าเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรค แต่ควรมองว่าเป็นโอกาส และเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ที่รัฐบาลวางแผนในการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาประเทศคู่ค้าหลัก ๆ ประเทศใดประเทศหนึ่งจนมากเกินไป โดยเน้นการกระจายความเสี่ยงไปในหลายประเทศให้มากขึ้น” นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางการเติบโตมากขึ้น สถานการณ์เงินเฟ้อในโลกเริ่มเข้าสู่ในภาวะที่ค่อนข้างควบคุมได้ แนวนโยบายอัตราดอกเบี้ยของโลกเริ่มลดความตึงเครียดลง ดังนั้นในส่วนของไทย ทั้งนโยบายการเงิน และการคลัง เชื่อว่าสุดท้ายก็จะต้องปรับตัวและล้อไปตามแนวทางของโลกเช่นเดียวกัน
รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้วางแนวทางในการผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น ระยะสั้น โดยการเร่งรัดการจัดทำข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ (FTA) โดยภายในปีนี้น่าจะทำ FTA กับยุโรปได้สำเร็จ, การเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI), การเร่งสร้างคน ผ่านการอัพสกิล รีสกิล, การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว
ส่วนในระยะกลาง รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับเรื่อง Green โดยอยู่ระหว่างการออก Green Bond รวมถึงการขับเคลื่อน R&D และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเร่งรัดเรื่องรถไฟความเร็วสูง ส่วนในระยะยาว รัฐบาลต้องการให้ไทยขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นจึงต้องวางแผนการลงทุนในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้าใจมากที่สุด การเร่งผลักดันการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และการผลักดันให้คนไทยเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม
“เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นประเด็นที่รัฐบาลมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน โดยเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการเดินหน้า Sandbox ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าไทยได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และเป็นเม็ดเงินที่สามารถตรวจสอบ และกำกับดูแลได้ โดยผ่านกลไกที่รัฐบาลจะสร้างขึ้นมา” นายจุลพันธ์ กล่าว
- หวัง Entertainment Complex เป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ให้ศก.ไทย
รมช.คลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยรูปแบบธุรกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งเป็นการนำองค์ประกอบของธุรกิจหลายประเภทมารวมกับกาสิโน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และการท่องเที่ยว
โดยเบื้องต้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนต่อจุดในการสร้าง Entertainment Complex ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการจัดทำกฎหมายที่ชัดเจน
“Entertainment Complex ไม่ใช่สิ่งใหม่ และหากดำเนินการได้ จะเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและการท่องเที่ยว โดยเชื่อว่าเมื่อเกิดการลงทุนจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึง 5-10% เพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวด้านการท่องเที่ยวเป็น 67,000 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 45,000-46,000 บาท และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ” นายจุลพันธ์ กล่าว
พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) เพราะไทยจะขายวัฒนธรรม ประเพณี หรือธรรมชาติแบบเดิมไม่ได้ แต่จะต้องหาแรงขับเคลื่อนใหม่ ๆ ซึ่งหากทำสำเร็จ Entertainment Complex จะเปลี่ยนโลกทัศน์ของไทยในเวทีโลก นอกจากสร้างเม็ดเงินให้รัฐแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้คนไทยโดยรวมด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 68)
Tags: Entertainment Complex, GDP ไทย, Trade War, กระทรวงการคลัง, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, เศรษฐกิจไทย