“จุลพันธ์” ยัน Entertainment Complex ใช้วิธีเปิดประมูล ลั่นไม่มีล็อกสเปคพื้นที่ล่วงหน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ ถึงขั้นตอนภายหลังหาก ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ว่า เมื่อกฎหมายผ่านสภาฯ แล้ว จะมีการจ้างบริษัทมืออาชีพให้ศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุนจัดตั้ง Entertainment Complex ในพื้นที่ใดบ้าง หรือจังหวัดใดที่มีศักยภาพ และในจุดนั้นจะเน้นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างไร ซึ่งรัฐบาลสามารถกำหนดสิ่งที่ต้องการจะเห็นไว้ใน TOR ได้ โดยทุกจุดจะต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เป็นกาสิโน ในสัดส่วนไม่เกิน 10%

อย่างไรก็ดี คาดว่าผลการศึกษานี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และยืนยันว่า ไม่มีการศึกษาเบื้องต้นรอก่อนไว้ล่วงหน้า

“หากกฎหมายคลอดมาแล้ว จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยใช้คนนอกที่มีความน่าเชื่อถือ ก็จะมาพิจารณาว่าพื้นที่ไหนมีความพร้อม มีศักยภาพ และจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชนในประเทศอย่างไร รัฐบาลจะได้ส่วนแบ่งรายได้มากน้อยเพียงใด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวตั้งต้น ซึ่งเมื่อมีผลการศึกษาออกมาอย่างดีแล้ว ก็จะทำให้คณะกรรมการนโยบายสามารถตัดสินใจได้ว่าจะลงที่ไหน ลักษณะไหน พื้นที่นี้ควรมีกิจกรรมเศรษฐกิจอะไร เช่น จุดนี้ควรมีสนามกีฬา จุดนี้ควรมีสวนสนุก โดยเมื่อกำหนดแล้ว ก็จะออกเป็น TOR ให้ภาคเอกชนที่สนใจ ได้เข้ามานำเสนอว่าเขาสามารถเสนอสิ่งที่เราต้องการได้อย่างไร มีส่วนแบ่งรายได้รัฐอย่างไร ต้องมาวัดกันตรงนี้ และต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจน สุดท้ายจะต้องโปร่งใสที่สุด” รมช.คลัง ระบุ

ทั้งนี้ การหาเอกชนที่จะได้ใบอนุญาตลงทุนในโครงการ Entertainment Complex นั้น รมช.คลัง ระบุว่า รัฐบาลจะใช้วิธีการเปิดประมูล โดยรัฐจะพิจารณาว่า เอกชนจะมีข้อเสนอการลงทุนที่ตอบโจทย์ สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น รวมทั้งอัตราผลตอบแทนที่จะให้กับภาครัฐ

“ต้องเป็นการประมูล มานำเสนอกัน แล้วมาดูประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ภาพลักษณ์ที่ดูว้าว ดูเด่น สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น นอกเหนือจากกิจกรรมที่เป็นการพนัน เราอยากเน้นที่ 90% ไม่อยากเน้นที่ 10% (พื้นที่กาสิโน) เพราะเราอยากให้เห็นว่าใน 90% นี้จะเกิดอะไรกับประเทศไทย” นายจุลพันธ์ ระบุ

ส่วนกรณีที่มีกระแสว่ามีการกำหนดพื้นที่ก่อสร้าง Entertainment Complex ไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริเวณท่าเรือคลองเตย หรือ จ.บุรีรัมย์ นั้น นายจุลพันธ์ ปฏิเสธว่าไม่มีการกำหนดพื้นที่ไว้ล่วงหน้า เพียงแต่แนวคิดของรัฐบาล ต้องการให้จัดสร้างบนที่ดินของรัฐ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หากเป็นการจัดตั้งบนที่ดินของเอกชน ซึ่งอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง

สำหรับขนาดความเหมาะสมของที่ดินนั้น ขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้เกิดในพื้นที่นั้น ๆ ว่าเป็นประเภทใด เช่น หากเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาด 300-400 ไร้ แต่ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ การใช้พื้นที่ก็อาจจะเล็กลง

“เราอยากให้ลงทุนในพื้นที่ของรัฐ แต่สุดท้ายสภาฯ ก็ต้องตัดสินใจ แนวคิดปัจจุบัน คือต้องการให้สร้างบนพื้นที่ของรัฐ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อยากให้เป็น fair game ทุกคนอยู่บนพื้นที่เดียวกัน คือพื้นที่ของรัฐที่เรากำหนด แล้วคุณค่อยไปเสนอมา ว่าคุณจะทำอะไร” นายจุลพันธ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ นายจุลพันธ์ ได้แสดงความเห็นในส่วนตัว ต่อกรณีการปรับแก้ไขร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกำหนดของผู้ที่จะเข้าไปเล่นกาสิโนว่าต้องมีเงินในบัญชีไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนว่า การตั้งหลักเกณฑ์ลักษณะนี้ ถือเป็นเกณฑ์ที่สูงมาก และอาจจะยิ่งผลักดันให้คนออกไปสู่การพนันนอกระบบได้ ทั้ง ๆ ที่วัตถุประสงค์ของการให้มีกาสิโนใน Entertainment Complex คือ ต้องการแก้ไขปัญหาการพนันนอกระบบที่ผิดกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้คงต้องมีการไปถกเถียงกันในสภาฯ ต่อไป

ส่วนอีกประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีการ เพิ่มเติมเข้ามา คือการให้มีพื้นที่ของร้านค้า OTOP ไว้ 10% อยู่ใน Entertainment Complex นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า OTOP เพียงแต่เห็นว่าเป็นการกำหนดพื้นที่ไว้ขนาดใหญ่เกินไป แต่สุดท้ายแล้วประเด็นนี้ก็ต้องไปถกกันในสภาฯ เพื่อให้ได้ข้อยุติ

รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า ได้หารือกับวิปรัฐบาล เพื่อที่ต้องการบรรจุการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เข้าสภาฯ ในวาระเร่งด่วน เพื่อให้มีการพิจารณาในวาระที่ 1 ทันก่อนจะปิดสมัยประชุมนี้ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ โดยสาเหตุที่ต้องรีบนำเข้าสภาฯ เพราะจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ไม่ใช่แค่นักลงทุนที่เกี่ยวกับ Entertainment Complex เท่านั้น แต่เกี่ยวกับภาพรวมของประเทศที่รัฐบาลบอกว่าจะเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เช่น Entertainment Complex ทำให้รัฐบาลต้องรีบผลักดัน

“ผมไม่อยากเห็นกฎหมายฉบับนี้ ที่สุดท้ายแล้ว หมดสมัยของรัฐบาลอีก 2 ปีก็ยังทำไม่เสร็จ สุดท้ายก็กลายเป็นลมไปอีก เพราะเรื่อง Entertainment Complex พูดกันมาหลายยุคสมัย แค่อยากจะให้เกิดได้จริง” นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าสมาชิกสภาฯ จะมีเวลาได้ศึกษาและทำความเข้าใจร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ทัน ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ในเดือนเม.ย. โดยขณะนี้มีเวลาเหลืออีก 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 11 เม.ย. คือ การประชุมช่วงวันที่ 2-3 เม.ย. และช่วงวันที่ 9-10 เม.ย.

“ช่วงปลายสมัยประชุมฯ จะมีกฎหมายค้างการพิจารณาค่อนข้างเยอะ และจะเป็นช่วงปิดสมัยประชุมที่ค่อนข้างยาว โดยปกติแล้ว ปลายสมัยประชุม จะเอากฎหมายที่เป็นวาระ 1 เข้า เพื่อจะตั้งกรรมาธิการ และเมื่อปิดสมัยประชุมแล้ว สมาชิกจะได้มีการประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายในชั้นกรรมาธิการได้ เข้าใจว่าวันที่ 2-3 เม.ย.เป็นเรื่องกฎหมายทั้งคู่ วันสุดท้ายน่าจะเป็นวันที่ 9 เม.ย. ส่วนการเลื่อนระเบียบวาระเพื่อพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับนั้น ผมคงไม่กล้าไปก้าวล่วง เพราะขึ้นอยู่กับวิป” รมช.คลัง ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 68)

Tags: ,