นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับ รมว.การค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ของออสเตรเลีย ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลีย และแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นทางการค้าที่สำคัญ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้า และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ออสเตรเลียได้หารือกับไทยใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
ประเด็นที่ 1 ออสเตรเลียสนใจจะจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย คือ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และขณะนี้มีความคืบหน้าเรื่องการลดภาษีระหว่างกันเกือบทุกรายการแล้ว โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Partnership) ระหว่างไทยและออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความสำคัญทางการค้าและการลงทุนที่ลงลึกไปกว่า FTA
โดยฝ่ายไทยแจ้งว่าไทยสนับสนุน และขณะนี้ไทยได้มีการเตรียมการจัดทำข้อตกลงนี้ ใน 7 สาขา ได้แก่
- เกษตรแปรรูป โดยเฉพาะด้านอาหาร
- การท่องเที่ยว
- บริการสุขภาพ
- การศึกษา
- อีคอมเมอร์ซ
- เศรษฐกิจสร้างสรรค์
- ด้านอื่นๆ เช่น ด้านพลังงาน หรือด้านการลงทุนร่วมกัน เป็นต้น
ซึ่งรัฐมนตรีออสเตรเลียแจ้งว่าจะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว หากได้ข้อสรุปจะเชิญไทยเข้าร่วมลงนามเข้าร่วมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2565
ประเด็นที่ 2 ออสเตรเลียเสนอให้ทั้ง 2 ประเทศมีการประชุมอย่างเป็นทางการเป็นประจำหรืออย่างน้อยปีละครั้ง
ประเด็นที่ 3 การเร่งรัดข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น ในส่วนของไทยคาดว่าจะยื่นให้สัตยาบันต่อจากจาการ์ตาในเดือนตุลาคมหรือไม่เกินพฤศจิกายนปีนี้ สำหรับออสเตรเลียจะยื่นได้ในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้โดยเร็วภายในต้นปีหน้าตามเป้าหมาย
ประเด็นที่ 4 เรื่องขององค์การการค้าโลก (WTO) ในส่วนที่เกี่ยวกับการอุดหนุนประมง ซึ่งไทยมีจุดยืนในเรื่องการสนับสนุนประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน และไม่สนับสนุนการอุดหนุนประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing)
ประเด็นที่ 5 ออสเตรเลียได้สอบถามเรื่องการเตรียมการของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในปี 2565 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้ โดยไทยได้เตรียม 3 ประเด็นเพื่อผลักดัน ได้แก่
- การเจรจาหาข้อสรุปการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกเอเปค
- หาข้อสรุปการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19
- การส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศเอเปคภายใต้ทิศทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ประเด็นที่ 6 ไทยจะเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม โดยจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด และเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการเร่งรัดการส่งออก ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และคาดว่าในปี 2564 การส่งออกของไทยจะสามารถเติบโตได้เกิน 4% มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และคาดว่าในปี 2565 การส่งออกจะสามารถขยายตัวได้เป็นตัวเลขสองหลัก
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอของไทยมี 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ขอให้ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น อาทิ ยางรถยนต์ ซึ่งเป็นโอกาสดีของไทยที่จะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง ซึ่งไทยเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก อาหารแปรรูป ไทยสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ ติด 1 ใน 10 ของโลก และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสินค้าดาวรุ่งของไทยที่การส่งออกขยายตัวสูง และออสเตรเลียจะเป็นตลาดสำคัญในอนาคต
ประเด็นที่ 2 ไทยขอให้ออสเตรเลียช่วยสนับสนุนวัคซีนให้กับไทย เนื่องจากออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ และได้สนับสนุนวัคซีนให้กับหลายประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 64)
Tags: จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นำเข้าสินค้า, ออสเตรเลีย