เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม เข้ายื่นหนังสือ ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายนิกร จำนง เลขานุการ ฯ เป็นผู้รับหนังสือ
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าวแสดงจุดยืนสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีเหตุจูงใจทางการเมืองทุกฝ่าย
แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการนำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องจากการกระทำความผิดนั้น ไม่ได้เป็นการแสดงออกทางการเมือง แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งหมายตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
การพยายามผลักดันการนิรโทษกรรม โดยการเหมารวมฐานความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมเข้าด้วยนั้น เหมือนกรณีที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ยิ่งจะสร้างความแตกแยกครั้งใหม่ในสังคมไทย
นอกจากนี้ ยังคัดค้านการนิรโทษกรรมที่จะเหมารวมความผิดในกรณีทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการกระทำผิดอาญาต่อบุคคลร้ายแรง ถึงแม้จะเกิดขึ้นในระหว่างชุมนุมก็ตาม
*กมธ. ยังไร้ข้อสรุป
นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ.ฯ กล่าวว่า มติที่ประชุม เห็นชอบเรื่องของกรอบเวลานิรโทษกรรม ช่วงเวลาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ถึงปัจจุบัน ส่วนจะครอบคลุมถึงคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั้น คาดว่าการประชุมในอีก 2-3 ครั้ง คงจะสามารถพิจารณาได้
“ขณะนี้ มีหลายคดีที่ต้องหารือกัน ว่าจะนิรโทษอะไรบ้าง และอย่างไร ยังไม่ได้พิจารณา ต้องดูกรอบอื่นมาก่อน หากจะนิรโทษกรรม มาตรา 112 จะต้องครอบคลุมทุกคดีหรือไม่นั้น คงต้องแล้วแต่ว่าจะเจอมาอย่างไร เพราะตอนนี้ รวมอยู่ในกรอบการศึกษาทั้งหมด” นายนิกร กล่าว
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงจุดยืนเรื่องนิรโทษกรรมเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่า เรื่องนิรโทษกรรมยังอยู่ในสภาฯ ดังนั้นกมธ. มีความเห็นอย่างไรก็ต้องรับฟังไว้ก่อน ขณะนี้กมธ.ยังพิจารณาไม่เสร็จ
ส่วนที่หลายคนพยายามหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อพาดพิงถึงบุคคลบางคนที่เราทราบนั้น คิดว่าควรรอให้สภาฯ พิจารณาให้เสร็จก่อน เพราะยังไม่เห็นผลการศึกษาว่าเป็นอย่างไร ไม่ควรจะตีตนไปก่อนไข้
นายวิสุทธิ์ ยังกล่าวถึงคดีความต่าง ๆ ที่รุมเร้ารัฐบาล ทั้งคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และไม่มีผลกระทบต่อเอกภาพของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นคดีใดก็ตาม
“คดีของนายเศรษฐา ก่อนที่จะแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ก็ได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และวันนี้ก็เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งไม่ได้หนักใจอะไร และในพรรคไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้” นายวิสุทธ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 67)
Tags: นิรโทษกรรม