สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า หน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้ขอให้ธนาคารในประเทศลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับเงินฝากจากสถาบันการเงินอื่น ๆ เพื่อให้ธนาคารมีเงินมาใช้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า
Self-Disciplinary Mechanism ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดธนาคารกลางจีน (PBOC) แจ้งว่า ธนาคารต่าง ๆ ควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคาร (Interbank Deposit Rate) กับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repo Rate) ระยะ 7 วัน ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.5% ต่อปี
แหล่งข่าวเผยว่า หน่วยงานกำกับดูแลแจ้งธนาคารไม่ให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารคู่ค้าในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาก โดยเสริมว่า ปัจจุบันธนาคารบางแห่งจ่ายดอกเบี้ย 1.8% ต่อปีหรือสูงกว่านั้น เพื่อดึงดูดเงินฝากจากสถาบันการเงินอื่น
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีนยังไม่ได้ตอบกลับคำขอความคิดเห็น
ทั้งนี้ ธนาคารในประเทศจีนกำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากการผ่อนคลายนโยบายของรัฐบาลส่งผลให้เงินฝากลดลง ธนาคารจึงจำเป็นต้องระดมเงินทุนจากแหล่งอื่น ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นจีนพุ่งสูงขึ้นทำให้เงินลงทุนจำนวนมากไหลออกจากตราสารหนี้ระยะยาวที่ให้อัตราผลตอบแทนต่ำ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ธนาคารส่วนใหญ่ใช้ในการระดมทุนและบริหารสภาพคล่อง
การสื่อสารทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน (guidance) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม เกิดขึ้นในขณะที่ธนาคารต่าง ๆ กำลังเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นให้ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตรากำไรของธนาคารจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม
ข้อมูลจากทางการจีนพบว่า ธนาคารต่าง ๆ ของจีนมียอดเงินฝากคงค้างอยู่ประมาณ 31 ล้านล้านหยวน (4.3 ล้านล้านดอลลาร์) จากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งรวมถึงกองทุนตลาดเงินและบริษัทหลักทรัพย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ย. 67)
Tags: จีน, ธนาคารจีน, อัตราดอกเบี้ย, เศรษฐกิจจีน