สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลจีนได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นส่งเสริมการเงินสีเขียว (green finance) หรือการจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมตามแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ซึ่งมีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ และมีคุณภาพสูง
แนวปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง รวมถึงธนาคารประชาชนจีนและกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าจีนจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางนโยบายการเงินเชิงโครงสร้างอย่างเต็มที่ และกระตุ้นการลงทุนทางสังคมในการเปลี่ยนผ่านอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี
สถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจตามแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีจะได้รับการชี้แนะให้ออกตราสารหนี้สีเขียว (green bond) อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเกื้อหนุนการมีส่วนร่วมระดับโลกในการเปลี่ยนผ่านแบบปล่อยคาร์บอนต่ำ
บรรดาบริษัทอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์จะได้รับอนุญาตให้จัดหาเงินทุนผ่านแนวทางต่าง ๆ เช่น การเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่สาธารณชน (IPO) การรีไฟแนนซ์ และการควบรวมเพื่อครอบครองกิจการ
จีนจะใช้กองทุนการพัฒนาสีเขียวระดับชาติมากระตุ้นการลดมลพิษ การฟื้นฟูทางนิเวศวิทยา และการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งสีเขียวและพลังงานสะอาดตามแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี
อนึ่ง จีนดำเนินแผนริเริ่มแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีเมื่อต้นปี 2559 ซึ่งมุ่งเปลี่ยนผ่านภูมิภาคเป็นแถบเศรษฐกิจสีทองที่มีจุดเด่นตรงระบบนิเวศสวยงามยิ่งขึ้น เครือข่ายการขนส่งที่ราบรื่นยิ่งขึ้น เศรษฐกิจที่สอดประสานกันยิ่งขึ้น ตลาดที่มีการบูรณาการกันยิ่งขึ้น และปริมาณกลไกทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น
แม่น้ำแยงซีเป็นทางน้ำสายยาวที่สุดของจีน ทอดยาวมากกว่า 6,300 กิโลเมตร ผ่าน 11 ภูมิภาคระดับมณฑล ก่อนไหลสู่ทะเลจีนตะวันออก โดยขุมพลังทางเศรษฐกิจ มหานคร และแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญจำนวนมากตั้งอยู่ภายในและโดยรอบพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสายนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 67)
Tags: XINHUA, จีน, แม่น้ำแยงซี