นายหลิ่ว อวี้กัง เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการจีน เปิดเผยข้อกำหนดในภาพรวมของโครงการระดับชาติ ซึ่งมุ่งลดทอนปริมาณการบ้านที่มากเกินไป รวมถึงการเรียนพิเศษของเด็กในระบบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
ภายใต้โครงการดังกล่าว จีนจะผลักดันการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง ปรับปรุงการศึกษาในโรงเรียน และพัฒนาระบบบริการภายในโรงเรียนที่ครบครัน โดยโรงเรียนต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนการสั่งการบ้าน ให้บริการหลังเลิกเรียนที่ดีขึ้น และปรับปรุงการสอนในห้องเรียน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคม ทางการจีนออกแนวปฏิบัติที่มุ่งลดภาระการบ้านของนักเรียนและภาระการเงินของผู้ปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ โรงเรียนต้องดำเนินระเบียบข้อบังคับเพื่อป้องกันภาระทางวิชาการของนักเรียนที่มากเกินไป โดยจะมีการจัดทำแบบสอบถามออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญในการประเมินผลการปฏิบัติงานของโรงเรียน
ขณะเดียวกัน จีนยังได้พยายามขยายบริการหลังเลิกเรียนครอบคลุมทุกโรงเรียน เพื่อบรรเทาภาระการบ้านและการเรียนพิเศษมากเกินไป โดยกระทรวงฯ สนับสนุนการจัดชมรมศิลปะ กีฬา ทักษะแรงงาน การอ่าน และงานอดิเรกอื่นๆ ขณะคณะครูได้รับอนุญาตให้จัดตารางทำงานที่ยืดหยุ่น และได้รับเงินพิเศษหากดูแลเด็กหลังเลิกเรียน ส่วนครูที่เกษียณอายุแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ อาสาสมัคร ตลอดจนองค์กรทางสังคม อาทิ ชิลเดรน พาเลซ (Children’s Palac) จะเข้ามามีบทบาทในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน
กระทรวงฯ กระตุ้นเตือนโรงเรียนให้พัฒนาการสอนในห้องเรียน เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการศึกษาในชั้นเรียน พร้อมส่งเสริมโรงเรียนออกโครงการและตำราใหม่ และใช้ประโยชน์จากหลักสูตรออนไลน์ที่จัดทำโดยคณะครูชั้นนำทั่วประเทศ โดยกระทรวงฯ เริ่มคัดเลือกหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานคุณภาพสูงทั่วประเทศในเดือนนี้ด้วย
นายหลิ่วเสริมว่า โรงเรียนไม่ควรจัดการสอบข้อเขียนกับกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ขณะการสอบปลายภาคควรจัดให้เฉพาะนักเรียนระดับชั้นอื่นๆ ภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 64)
Tags: XINHUA, กระทรวงศึกษาธิการจีน, การบ้าน, การศึกษา, จีน, นักเรียน, หลิ่ว อวี้กัง, เรียนพิเศษ