จับตา “Trade war 2.0” ชี้ชะตาสินค้าไทย ในวังวนสงครามการค้ารอบใหม่

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ให้มุมมองว่า การกลับมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมชัยชนะที่เด็ดขาดในการเลือกตั้งสหรัฐฯ และการที่พรรคริพับลิกันครองเสียงข้างมาก ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ส่งสัญญาณถึงการกลับมาของนโยบายการค้าเข้มงวด โดยในรอบนี้ มาพร้อมกับเครื่องมือนโยบาย 2 ประการ ได้แก่

1. อัตราภาษีศุลกากรพื้นฐานทั่วไป (Universal Baseline Tariff) ทรัมป์เสนอการปฏิรูประบบภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แทนที่จะใช้อัตราภาษีที่แตกต่างกันตามประเภทสินค้า และประเทศต้นทาง มาตรการนี้จะกำหนดอัตราภาษีพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศ นโยบายดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จากเดิมที่ครอบคลุมเพียง 30% ของสินค้านำเข้า เป็นการจัดเก็บครอบคลุมเกือบทั้งหมด

2. ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นมาตรการที่มีผลกระทบรุนแรงกว่า Universal Baseline Tariff มาตรการนี้จะให้อำนาจประธานาธิบดีในการปรับอัตราภาษีนำเข้าให้เท่ากับอัตราที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าอเมริกัน การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ (Trump Reciprocal Trade Act) ซึ่งอาจมีความรวดเร็วเนื่องจากพรรค Republican สามารถครองเสียงข้างมากได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

ทั้งนี้ การดำเนินการตามนโยบายข้างต้นจะใช้ผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ที่อาจใช้เวลารวม 6-8 เดือนในการบังคับใช้ คือ

1. Section 301 of the Trade Act of 1974 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ยืดหยุ่นที่สุดในการจัดการกับแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในกรณีเร่งด่วนที่สุด

2. Section 232 of the Trade Expansion Act ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การนำเข้าที่อาจคุกคามความมั่นคงของชาติ มีขอบเขตที่เฉพาะเจาะจงกว่า

3. การเพิกถอนสถานะความสัมพันธ์การค้าปกติถาวร (Permanent Normal Trade Relations: PNTR) ของจีน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างถึงราก โดยการเพิกถอน PNTR จะทำให้การนำเข้าจากจีนต้องเสียภาษีในอัตรา “Column 2” ที่สูงขึ้นมากในทุกประเภทสินค้า

“ในกรณีที่รุนแรงที่สุด เครื่องมือเหล่านี้อาจถูกใช้พร้อมกัน โดยในทางปฏิบัติอาจใช้เวลานานกว่าระยะเวลาขั้นต่ำ ที่ผ่านมาภาคธุรกิจมักได้รับแจ้ง 30-60 วัน ก่อนภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ การดำเนินการทั้งหมดน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 เดือน เนื่องจากข้อกำหนดทางการบริหาร กระบวนการทบทวนทางกฎหมาย ระยะเวลาปรับตัวของภาคธุรกิจ และพันธกรณีในการแจ้งกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีนำเข้าบางกรณีสามารถกระทำได้ทันที โดยอ้างอิงจากการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว”

Krungthai COMPASS ระบุว่า ประเทศไทย ในฐานะประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับ 12 ของโลก ด้วยมูลค่า 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการวิเคราะห์สินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น จากสินค้าที่มีการเกินดุล 29 อันดับแรก ซึ่งคิดเป็น 70% ของการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ (มูลค่า 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคิดเป็น 15% ของการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 2023 (มูลค่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) พบว่ามี 2 กลุ่มสินค้าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ

1. กลุ่มที่มีการเกินดุลสูง

สินค้าในกลุ่มนี้ประกอบด้วย Hard Disk Drive, Semiconductor, Communication apparatus และ Tyres ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงและมีการเกินดุลการค้าต่อสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ สินค้าเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกำหนดมาตรการทางการค้า

2. กลุ่มที่มีการขยายตัวรวดเร็ว

สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น Electrical machines, Solar Panels และ Air Conditioners แม้จะมีการเกินดุลไม่มากนัก แต่มีอัตราการเติบโตสูงในช่วงปี 2016-2023 การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ อาจดึงดูดความสนใจจากผู้กำหนดนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และนำไปสู่การตรวจสอบอย่างเข้มงวด

ปัจจุบันการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในอัตราอ้างอิง General Rate ภายใต้หลักการปฏิบัติ Most-Favoured-Nation (MFN) ของข้อตกลงการค้า WTO โดยหลักการ MFN เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของ WTO ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติต่อสินค้าจากทุกประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน หากประเทศใดให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ประเทศหนึ่ง ก็ต้องให้สิทธิเดียวกันนี้แก่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทั้งหมดด้วย

ภายใต้หลักการนี้ สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าพื้นฐาน หรือ General Rate สำหรับประเทศสมาชิก WTO ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ในระดับต่ำ หรือเป็นศูนย์สำหรับสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสถานะ MFN นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ ด้วยต้นทุนภาษีที่ต่ำ

หากมีการใช้ Reciprocal Tariff สถานะ MFN และ General Rate อาจถูกยกเลิกหรือระงับใช้ชั่วคราว และแทนที่ด้วยอัตราภาษี Column 2 ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่สูงกว่ามาก โดยความแตกต่างระหว่างอัตราภาษีทั้ง 2 มีช่องว่างที่กว้างมากในหลายสินค้าสำคัญ เช่น HDD, เซมิคอนดักเตอร์ และยางล้อ รวมถึงกลุ่มที่มีการเติบโตสูง เช่น แผงโซล่าเซลล์ และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งอาจเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีจาก 0-4% เป็น 10-35% ภายใต้มาตรการใหม่

การเปลี่ยนแปลงจาก General Rate ภายใต้ MFN Rate ไปสู่ Column 2 Rate หรืออัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราภาษีนำเข้าที่ไทยจัดเก็บจากสินค้าจากสหรัฐฯ ตามหลักภาษีศุลกากรตอบโต้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ

ทั้งนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปัจจุบันได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาษี จะทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก อาทิ

– การลดอัตรากำไร เพื่อรองรับต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น และรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

– การผลักภาระภาษีไปยังผู้ซื้อ ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด

– การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ยังได้รับสิทธิ MFN

– การมองหาตลาดส่งออกทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ

Krungthai Compass เห็นว่า การกลับมาของทรัมป์ เป็นการเริ่มต้นของ Trade War 2.0 ที่หากครั้งก่อนหน้าเป้าหมายคือ “Anywhere, but China” ครั้งนี้อาจเปลี่ยนเป็น “Anything, but China” ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจะขยายวงมากขึ้น การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐควรเร่งเจรจาเพื่อขอยกเว้นหรือผ่อนปรนมาตรการ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองประเทศ

ในขณะที่ภาคเอกชน ควรเร่งรับมือผ่านการเริ่มจัดทำ Supply chain transparency กระจายความเสี่ยงด้านตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้อง “Brace for impact” จากการเข้าสู่ “Era of Deal Making” ที่ความสามารถในการเจรจาต่อรอง จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมทางการค้าของประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,