ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 66 จะอ่อนค่าในลักษณะเกาะกลุ่มอยู่กลางตารางเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่หากเทียบเฉพาะการเคลื่อนไหวในเดือนก.ย. 66 ต้องยอมรับว่า อัตราการอ่อนค่าของเงินบาทค่อนข้างเร็ว และมากกว่าค่าเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย
โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2/66 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากทิศทางเงินหยวน ซึ่งมีปัจจัยลบจากสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่า วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงไม่สิ้นสุดลง เพราะอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟด
ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ต้องจับตา 3 ปัจจัยสำคัญ ที่อาจมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 66 ดังนี้
1. ท่าทีเฟดและเงินดอลลาร์ คาดว่า เฟดยังน่าจะส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้ม ซึ่งอาจหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ให้ปรับสูงขึ้น
2. ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีน โดยประเมินว่า เงินหยวนของจีนยังอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์หรือ Correlation ระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนอยู่ที่ 0.81 ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินหยวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามในบางจังหวะด้วยเช่นกัน
3. ปัจจัยเฉพาะของไทย คือสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด และฐานะการคลัง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ตลาดรอติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศคู่ค้า และสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น อาจกดดันให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอ่อนแอลง
ขณะที่มาตรการภาครัฐที่เตรียมจะดำเนินการในระยะข้างหน้า ก็เป็นอีกปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน เพราะจะมีผลต่อการประเมินสถานะทางการคลัง แนวทางและขนาดการก่อหนี้ รวมไปถึงภาระทางการคลัง ทั้งในและนอกงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้น น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกดดันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวะที่เฟดยังคงไม่จบรอบวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะยังคงโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่าในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และอาจทดสอบระดับใกล้ๆ 36.60 บาท/ดอลลาร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เงินบาท