ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ตามแรงหนุนท่องเที่ยว ส่งออกที่ลดลง ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน และภาคการผลิตไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลง หลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด
– โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคนในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง
– การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัด ๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP
– การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567
– การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment) ให้เพิ่มขึ้น
– การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายการผลิตของจีน หลังจากการเกิดสงครามการค้ารอบแรก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Data Center ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในไทย ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในการลงทุนการผลิตรถยนต์ EV ในไทย จากภาวะตลาดโลกที่เผชิญภาวะอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางอุปทานสูง ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนผลิตนถยนต์ EV ในไทยล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในรายการที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับไทยสูง หรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีน ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ
*เชื่อสงครามการค้ารอบใหม่ ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า สงครามการค้ารอบใหม่ จะมีผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเทศไทย เป็น 1 ใน 15 ประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูงสุด มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ราว 2.5% แม้จะได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า และวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม
สำหรับความคาดหวังต่อผลบวกจากสงครามการค้ารอบใหม่ ที่จะส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อนิคมอุตสาหกรรม อาคารสำนักงานนั้น ยังคงมีความไม่แน่นอน ต้องรอการวางกลยุทธ์ของซัพพลายเชนต่าง ๆ และจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย
– ผลกระทบทางตรง: การส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะชะลอลง ซึ่งสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มที่ไทยได้รับอานิงส์จากการเข้ามาลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทยในสงครามการค้ารอบแรก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และยางรถยนต์
ขณะเดียวกัน ไทยอาจถูกเรียกร้องให้นำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ในกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อยเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากโลก ยิ่งหากเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในด้านการผลิต และมีการส่งออกไปยังตลาดโลกเป็นอันดับต้น ๆ เช่น ปิโตรเลียม อุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนสินค้าที่ไทยยังไม่ได้เปิดตลาดเต็มที่ เช่น งสินค้าเกษตร อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เป็นต้น
– ผลกระทบทางอ้อม: การแข่งขันกับสินค้าจีน ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นการเข้ามาในไทยของสินค้าจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมจีนที่มีมาก ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้น และมีผลกลับมายังภาคผลิตของไทย อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก และเสื้อผ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 60% ภาคการผลิตไทยคงจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน สินค้าส่งออกไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการไหลเข้ามาของสินค้าจีนในตลาดภูมิภาค โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ คงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา และขนาดการปรับขึ้นภาษี ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และประเภทสินค้า
นอกจากนี้ ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงแรงกว่าคาด เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย
*ภาคการผลิตแนวโน้มยังอ่อนแอ-เงินเฟ้อยังต่ำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคการผลิตไทยยังมีแนวโน้มอ่อนแอ จากประเด็นเชิงโครงสร้างภาคการผลิต ที่ผลิตสินค้าไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดย 10% ของ GDP ยังเป็นการผลิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องหนัง พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งมีความสามารถทางการแข่งขันที่ลดน้อยถอยลงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และยังเผชิญต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ในขณะที่แนวโน้มข้างหน้าจะเจอการการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของสินค้าจีนทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก จะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อภาคผลิตไทย
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ราว 0.7% ภายใต้สมมติฐาน ภาครัฐมีแนวโน้มจะยังคงราคาพลังงานในประเทศในระดับใกล้เคียงปี 2567 แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง แต่ราคาขายปลีกพลังงานในประเทศ คงไม่ลดลงมากเท่ากับการลดลงของราคาพลังงานในตลาดโลก เนื่องจากภาระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งราคาอาหารสด คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามฐานราคาเนื้อหมูที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 หลังจากราคาเนื้อหมูทยอยพลิกกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาส 4/2567
ขณะที่มาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 มาอยู่ที่เฉลี่ย 355 บาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.9% คาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.08% อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในปี 2568 ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายปฏิรูปภาษี
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 2 ครั้ง ลงมาอยู่ที่ราว 1.75% ณ สิ้นปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น และมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% อย่างต่อเนื่อง
*หนี้ครัวเรือนชะลอตัว สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โตช้า-โตต่ำต่อเนื่อง 4 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2568 คาดว่า อัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน อาจชะลอลงต่อเนื่อง และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 85.0-87.5% ในปี 2568 ซึ่งแม้จะต่ำลงจากกรอบประมาณการสำหรับปี 2567 ที่ 88.5-89.5% แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับยั่งยืนที่ 80.0% ต่อ GDP ตามการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)
ด้านสถานการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบแบงก์ไทย) ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปี 2568 โดยภาพรวมสินเชื่อระบบแบงก์ไทย อาจเติบโตในระดับต่ำที่ประมาณ 0.6% แม้จะเป็นระดับที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับที่คาดว่า สินเชื่อจะปิดสิ้นปี 2567 ในแดนลบ หรือหดตัวลงประมาณ 1.8% แต่ก็คงต้องยอมรับว่า อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับดังกล่าว เป็นระดับที่ไม่สูง และต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP Growth) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4
สะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่ไม่เพียงมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ และความสามารถในการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน แต่ยังมีผลต่อการพิจารณาความเสี่ยงด้านเครดิต และการเฝ้าระวังดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ในฝั่งของสถาบันการเงิน หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดในไตรมาสที่ 3/2567 สะท้อนว่า สินเชื่อด้อยคุณภาพ (หรือ NPLs) และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (หรือ Stage 2) ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2568 คาดว่าสินเชื่อธุรกิจ มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าสินเชื่อรายย่อย โดยสินเชื่อธุรกิจในภาพรวม อาจพลิกจากที่หดตัวลงตลอดช่วงปี 2565-2567 มาขยายตัวที่ระดับประมาณ 1.5% ท่ามกลางอานิสงส์จากบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐในปี 2568 ที่น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปี 2567 อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนของสินเชื่อธุรกิจ อาจเริ่มจากการทยอยเบิกใช้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อการลงทุนของธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่การฟื้นตัวของสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางข้อจำกัดในการฟื้นตัวของธุรกิจ เพราะต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอ การแข่งขัน และการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม
สำหรับสินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทย คาดว่า สินเชื่อรายย่อยยังคงมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยอาจหดตัวลงประมาณ 1.0% ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 2.0% ในปี 2567 เนื่องจากกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดของรายได้ในภาคครัวเรือน และภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิม มีผลกระทบต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะหนี้ที่มีวงเงินต่อสัญญาที่ค่อนข้างสูง เช่น หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 68)
Tags: ท่องเที่ยว, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ส่งออก, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย