จับตาผลกระทบเศรษฐกิจไทยปี 68 หาก “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 5 พ.ย.นี้ กำลังจะส่งผลให้เกิดความผันผวนและความเปลี่ยนแปลง สำนักวิจัยฯ ได้ประเมินฉากทัศน์ที่ “ประธานาธิบดี ทรัมป์” ได้รับการเลือกตั้งใหม่ เพราะหาก “รองประธานาธิบดี แฮร์ริส” ชนะ คงเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากประธานาธิบดีไบเดน

ดังนั้น หาก “ทรัมป์” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเต็มไปด้วยทั้ง “โอกาส” และ “ความท้าทาย”

* ด้านบวก

1. เศรษฐกิจโลกจะรอดจากภาวะถดถอย เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคล จะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐเพิ่มการจ้างงาน และปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตขึ้น

2. ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลง จากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐ และการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศในตะวันออกกลาง และรัสเซีย เป็นผลดีต่อประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทย และจะช่วยลดค่าครองชีพของคนในประเทศ

3. มีการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีน จะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล

* ด้านลบ

1. การส่งออกของไทยเสี่ยงโตช้า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความกังวลว่าการค้าระหว่างประเทศจะหยุดชะงัก

2. ต้นทุนกู้ยืมของรัฐบาล จะอยู่ระดับสูงตามความเสี่ยงทางการคลัง ไม่ใช่เพียงแต่ในสหรัฐ แต่รวมถึงไทยด้วย เพราะอัตราผลตอบแทนพันบัตรรัฐบาลมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

3. รายได้ภาคเกษตรของไทยเสี่ยงลดลง ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กดดันให้อุปสงค์ในประเทศไทยอ่อนแอตาม

ฉากทัศน์ของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ในบริบทของภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ มีประเด็นสำคัญที่น่าจับตา ดังนี้

  • โลกาภิวัตน์ตีกลับ – การค้าโลกหยุดชะงัก

ภายใต้นโยบายภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์ และข้อจำกัดทางการค้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทรัมป์จะกำหนดภาษีนำเข้า 60% สำหรับสินค้าจีน ทำให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศลดฮวบ บริษัทจีนจะเผชิญแรงกดดันหนักขึ้น เกิดการไหลออกของเงินทุน การย้ายฐานอุตสาหกรรม และบางบริษัทอาจย้ายมาไทย ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของจีน

สำหรับบริษัทจีน ที่ดำเนินงานในไทย และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอยู่แล้ว ไม่น่าจะถูกกระทบทางตรง ส่วนผู้ผลิตจีนที่โยกย้ายมาไทยเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องจักร แม้การเปลี่ยนแปลงนี้ จะเพิ่มบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตของจีนในภูมิภาค แต่การย้ายฐานนี้ จะไม่สามารถชดเชยการลดลงของการค้าของโลกได้ การค้าภูมิภาคจะชะลอลง เพราะเมื่อจีนส่งออกลดลง จีนจะลดการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสช่วงชิงสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐมากขึ้น หรือแย่งส่วนแบ่งการตลาดของจีนในสหรัฐที่ลดลง แม้ว่าไทยจะเผชิญภาษีนำเข้า 10% แต่สินค้าไทย จะยังคงมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในสหรัฐ

กรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าส่งออกของไทยจะขยายตัวราว 1.0% แทนที่จะอยู่ที่ระดับ 2.6% ขณะที่กรณีแฮร์ริสชนะ ไทยต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ไทยในฐานะผู้เล่นในภูมิภาคอาเซียนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ต้องระมัดระวังในการจัดการด้านความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐและจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ไทยสามารถเพิ่มบทบาทในเวทีโลกโดยใช้แพลตฟอร์มอาเซียน เพื่อส่งเสริมการค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งใช้ความเข้มแข็งของอาเซียนดึงดูดการลงทุนต่างชาติ (FDI) ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากสหรัฐ โดยใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรอง

นอกจากนี้ ไทยสามารถร่วมมือกับอาเซียน ในการสกัดสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน หรือมีจุดประสงค์ในการทุ่มตลาด จนกระทบ SMEs และทำให้ภาคการผลิตของไทยอ่อนแอลง

  • อย่าคิดว่าบาทจะแข็งลากยาว

กรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่าที่คาดไว้ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐรอดพ้นจากภาวะถดถอยจากสงครามการค้า ดอลลาร์สหรัฐน่าจะอ่อนค่าตามทิศทางดอกเบี้ยที่ลดลง แต่คาดว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับความเสี่ยง รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อาจยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณ และหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่สูง จะทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ และนำเงินกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐแทน ทำให้ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน โดยคาดว่าในปลายปี 2568 เงินบาทอาจอ่อนค่าลงถึงระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินบาทอ่อนค่า จะทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรและวัตถุดิบ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด เพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แม้จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก ซึ่ง ธปท. อาจให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย จะเพิ่มความผันผวนทางการเงิน ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล และธุรกิจอยู่ในระดับสูง

ในทางตรงข้าม หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง เฟดจะทยอยปรับลดดอกเบี้ยตามทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลง นักลงทุนจะลดความสนใจในเงินดอลลาร์ลง เงินบาทน่าจะแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2568

  • เศรษฐกิจสหรัฐรอดจากภาวะถดถอย

เศรษฐกิจสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่น่าเผชิญภาวะถดถอยในปี 2568 และอาจเติบโตได้เหนือระดับ 2.0% มากกว่ากรณีแฮร์ริสชนะเลือกตั้ง แต่คงโตได้ดีระยะสั้น เพราะนโยบายหลายอย่างของทรัมป์ จะนำไปสู่การเติบโตที่ช้าลงในระยะกลางถึงระยะยาว รวมทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นในปีถัด ๆ ไป

นโยบายของทรัมป์ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ การลดภาษีนิติบุคคล จาก 21% เป็น 15% ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจในสหรัฐ จ้างงานหรือเพิ่มค่าแรงขึ้น อันจะช่วยชดเชยค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และจะทำให้ค่าแรงที่แท้จริง หรือค่าแรงที่ได้รวมคาดการณ์เงินเฟ้อไว้แล้ว กลับมาลดลงได้ในระยะต่อไป ในขณะที่ทรัมป์ไม่น่าจะปรับลดรายจ่ายภาครัฐแม้รายรับภาษีลดลง ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นฃ

เมื่อเกิดความไม่สมดุลทางการคลังในระยะยาว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะทรงตัวในระดับสูง กระทบต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ ราคาสินค้าจึงปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อยังจะอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมาย แต่ที่ราคาสินค้าและบริการยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ก็เพราะอุปสงค์ในสหรัฐจะยังแข็งแกร่งในปี 2568 จากมาตรการของทรัมป์

  • ราคาน้ำมันดิ่ง

ทรัมป์ น่าจะสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐ และสหรัฐมีน้ำมันดิบสำรองในปริมาณมากพอจะใช้ในประเทศ และส่งออกได้ โดยทรัมป์ไม่น่ากังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือภาวะโลกร้อน รวมทั้งมองว่าเทคโนโลยีในการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐที่ก้าวหน้า จะส่งผลดีต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจสหรัฐ อีกทั้งคนอเมริกันจะสามารถใช้พลังงานในราคาที่ถูกลง ส่งผลดีต่อเงินเฟ้อสหรัฐที่น่าจะลดลงตาม

ขณะที่ภาคต่างประเทศ ทรัมป์จะเจรจาหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศตะวันออกกลาง และรัสเซีย เพื่อยุติสงคราม เมื่อความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์คลี่คลายลง อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีเสถียรภาพ จะทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวลดลง

สำหรับประเทศไทย ราคาน้ำมันที่ลดลง จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ทำให้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรจะลดลงตามต้นทุนพลังงานและปุ๋ย และปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรไทย ทำให้กำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่ออุปสงค์ภายในประเทศให้อ่อนแอลง

ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จะเฉลี่ยที่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในกรณีที่ทรัมป์ชนะ เทียบกับระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในกรณีที่แฮร์ริสชนะ

  • เศรษฐกิจไทย ใต้เงา “ทรัมป์”

เศรษฐกิจไทย ภายใต้นโยบายการค้าและนโยบายเศรษฐกิจของ “ทรัมป์” น่าจะมีความผันผวนมากกว่ากรณีของ “แฮร์ริส” โดยเฉพาะจากความพยายามลดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะกดดันการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

สำนักวิจัยฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับ 3.2% ในกรณีของแฮร์ริส โดยคาดว่า นอกจากการส่งออกที่จะชะลอ และกดดันการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตช้าลงแล้ว ความต้องการในประเทศจะอ่อนแอตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง โดยเฉพาะ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคการเกษตรทั่วประเทศ รวมทั้งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบท จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลดลงของกำลังซื้อ แต่เชื่อว่าการบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้ ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และจากมาตรการแจกเงินของรัฐบาล

ในส่วนของมาตรการทางการเงิน มองว่า ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ และลดความเสี่ยงด้านภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แม้การลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า และเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อสินค้านำเข้ามากขึ้นก็ตาม สำนักวิจัยฯ มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 1.25% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับที่ระดับ 1.50% ในกรณีของแฮร์ริส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,