ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมี.ค.ในวันพุธ (12 เม.ย.) บ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายของเฟดหลายรายพิจารณาถึงการระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารระดับภูมิภาค 2 แห่งล้มละลาย และเจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่า ปัญหาในภาคธนาคารจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
แต่แม้ว่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายดังกล่าวมีความวิตกเกี่ยวกับปัญหาในภาคธนาคาร แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ยังคงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากกังวลว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 21-22 มี.ค.ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายหลายรายได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการตรึงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าวเพื่อประเมินสถานการณ์ในภาคธนาคารซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการปล่อยกู้
เจ้าหน้าที่เฟดที่ประเมินผลกระทบจากปัญหาของภาคธนาคารคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยแบบไม่รุนแรงในปีนี้ และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในปี 2567-2568
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่เฟดที่วิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคธนาคารและได้หารือเรื่องการระงับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ก็ยังคงลงมติสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนมี.ค. เนื่องจากเห็นด้วยกับผู้กำหนดนโยบายคนอื่น ๆ ของเฟดที่ว่า การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหรัฐและเฟดนั้น ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ในภาคธนาคารดีขึ้น และลดความเสี่ยงในระยะใกล้ที่จะเกิดกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายในระยะยาวของเฟดที่ระดับ 2% และเจ้าหน้าที่เฟดเห็นพ้องต้องกันว่า ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อแทบไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังลดลงในอัตราที่เพียงพอจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับคืนสู่ระดับ 2% เมื่อเวลาผ่านไป
รายงานการประชุมบ่งชี้ว่า การล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ทำให้เจ้าหน้าที่เฟดต้องทำการอภิปรายกันอย่างยาวนานแบบไม่คาดคิดมาก่อน แต่สุดท้ายแล้วผู้กำหนดนโยบายของเฟดก็ได้ลงมติเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ เฟดลงมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.75-5% ในเดือนมี.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 66)
Tags: ขึ้นดอกเบี้ย, ธนาคารกลางสหรัฐ, เฟด, เศรษฐกิจสหรัฐ