งบประมาณไม่เอื้อ! “ศิริกัญญา” ชี้รัฐบาลถึงทางตันเข็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ศิริกัญญา ตันสกุล

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า กรณีมีข่าวรัฐบาลเตรียมปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยไม่แจกเงินให้คนรวยนั้น แสดงว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาการเงินที่จะนำมาใช้กับโครงการนี้แน่นอน จึงจำเป็นที่จะต้องลดจำนวนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์

แต่ถึงแม้จะพยายามอย่างไรก็ยังมีคนได้รับเงินนี้ อยู่ประมาณ 43-49 ล้านคน ซึ่งถ้าเป็น 43 ล้านคนใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณปี 2567 คงไม่พอในปีเดียว เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอว่าจะใช้เป็นงบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นเวลา 4 ปี ก็ยิ่งชัดเจนว่าหลังจากได้คำนวณมาแล้ว แสดงว่างบประมาณปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัวอลเล็ตเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และในกรณีที่จำเป็นจะต้องผูกพันไปจนถึง 4 ปี ก็เท่ากับว่าจะมีร้านค้าบางส่วนจะไม่ได้เงินสดทันที ต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณไป ซึ่งส่วนนี้จะกระทบกับร้านค้าที่อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากพอที่ต้องการเงินสดมาหมุนเวียน จนอาจตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ

“เป็นการตอกย้ำว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทมาถึงทางตันแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ไปก่อนได้ เพราะติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ นั่นคือเรื่องของงบประมาณ และที่มาของเงินที่จะต้องใช้ แต่การปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ ต้องพิจารณาด้วยว่ายังคงทำตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิม และผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมของโครงการนี้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้ว ก็อาจจะต้องทบทวนนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

สำหรับการคัดกรองคนที่มีเงินเดือน 25,000 บาท และผู้ที่มีเงินฝากนั้น ความจริงแล้วลดจำนวนลงไปได้เพียงแค่ 13 ล้านคน ถ้าเป็นคนที่มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท ก็ลดไปได้เพียงแค่ 7 ล้านคน ดังนั้นในแง่ของการที่จะประหยัดงบประมาณลงนั้น คงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงว่าจะทำอย่างไรต่อไป

แต่หากสุดท้ายแล้ว กลับไปที่ทางเลือกที่ 3 ทางเลือก ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำไป อาจจะเป็นแค่การประคับประคองเยียวยาค่าครองชีพให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน ซึ่งนี่เป็นการเริ่มที่จะเปลี่ยนรูปแบบของโครงการ เปลี่ยนวัตถุประสงค์ เปลี่ยนคนที่จะได้รับไปอย่างชัดเจน

ดังนั้นถ้าจะคงเพียงแค่รูปแบบว่าเป็นการแจกเงินเอาไว้ แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูดไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องทบทวนจนเข้าใจดีว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่เพื่อไทยได้หาเสียงไว้ แต่ถ้าสามารถที่จะบอกกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ว่าติดปัญหาในเรื่องอะไร เช่น งบประมาณมีไม่พออย่างไร เชื่อว่าประชาชนน่าจะเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่ นั่นคืองบประมาณ

ส่วนโครงการนี้อาจจะถูกยกเลิกไปหรือไม่ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า น่าจะเรียกว่าเปลี่ยนวิธีการมากกว่า อย่าเรียกว่ายกเลิก ตนเข้าใจดีว่าสัญญาทางใจที่มีไว้กับโหวตเตอร์หรือผู้สนับสนุนสำคัญ แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน เรามีวิธีการที่จะไปได้หลายทาง

สุดท้ายจะจบแค่เป็นโครงการเยียวยาหรือไม่ก็ต้องรอดูว่าจะกลายเป็นรูปแบบนั้นหรือไม่ ต้องบอกว่าตอนนี้งบประมาณที่ไปทบทวนกันของแต่ละหน่วยงานรัฐเขาทำกันเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมายังสำนักงบประมาณแล้ว ดังนั้นสำนักงบประมาณมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วว่าจะสามารถตัด ลด เกลี่ย งบประมาณ ของปี 67 ได้เท่าไร ซึ่งปรากฏว่าได้แค่แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าจะไม่ทำงบประมาณผูกพันข้ามปี ทางออกเดียว คือให้เฉพาะคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

“แต่ถ้าทำเช่นนั้น ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่เป็นเพียงแค่การเยียวยาค่าครองชีพ จึงต้องบอกกับรัฐบาลว่าต้องมาทบทวนวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ อย่างจริงจังอย่ายึดติดที่รูปแบบ ให้ดูที่เป้าหมายมากกว่าว่าผลลัพธ์ เราอยากจะได้อะไร แล้วออกแบบนโยบายให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า” น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติออกมาก่อน ซึ่งตามข่าวที่ออกมานั้นยังเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นในชั้นอนุกรรมการฯ เท่านั้น

“เรายังให้เวลารัฐบาลกลับไปคิดทบทวน ลงรายละเอียดทุกอย่าง แล้วให้คณะกรรมการชุดใหญ่ มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเข้ามา เราก็จะได้ทำการตรวจสอบกันต่อไป ซึ่งหลายคณะกรรมาธิการตั้งท่ารอที่จะเชิญไปพูดคุยในรายละเอียด กระทู้สดยังรออยู่ พร้อมฝากให้สื่อสอบถามประชาชน รวมถึงร้านค้าว่า หากจะต้องทยอยจ่ายเป็นหลายปีงบประมาณ ไม่ได้รับเงินสดในทันที ร้านค้าจะยังสนใจเข้าร่วมโครงการหรือไม่” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

ส่วนการคัดกรองของโครงการนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือเรื่องของงบประมาณมากกว่าส่วนเรื่องหลักเกณฑ์ ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันหรือไม่กับคนที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ ดูรายได้จากการยื่นภาษีให้กรมสรรพากร และดูทรัพย์สินจากธนาคารพาณิชย์โดยแจ้งผ่านไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ามีเงินฝากเท่าไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะยาก แต่แน่นอนว่าจะมีความผิดพลาดในเรื่องของ อาจจะมีคนที่มีรายได้มากแต่ไม่ได้ยื่นสรรพากร มีสินทรัพย์อย่างอื่น แต่ไม่ได้มีเงินฝาก

พร้อมมองว่า ทางออกสุดท้ายของรัฐบาล อาจจะต้องใช้ พ.ร.ก.เพื่อดำเนินโครงการนี้ ในทางเทคนิคทางออกสุดท้าย คือ การออก พ.ร.ก.เงินกู้ เหมือนกับช่วงโควิดที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเป็นทางออกทางเทคนิคที่ง่ายที่สุด แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.จะออกได้จะต้องมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่ก็ต้องถามสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และในทางการเมือง

“ต้องยอมรับว่า การจะออก พ.ร.ก.เงินกู้ ณ เวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้น คงต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน ก็ขอเตือนไว้ว่าถ้าออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้เมื่อไร อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง” น.ส.ศิริกัญญา ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,