ค่าแรงปรับขึ้นน้อย นายกฯ ไม่แฮปปี้! วอนไตรภาคีเห็นใจ อย่ายึดแค่กฎหมาย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (26 ธ.ค.) เห็นชอบตามมติที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 โดยนายกรัฐมนตรียอมรับว่าไม่มีความสุข ในขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ก็ไม่ได้มีความสุขและอึดอัดเช่นกัน แต่ต้องยอมรับว่ามีกลไกในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอยู่ เป็นเรื่องจิตใต้สำนึกความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

“เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้เจอกับนายกฯ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งบอกกับผมว่า ถ้าไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ความเจริญเติบโตของประเทศก็จะต่ำไปด้วย ซึ่งเมื่อคืนได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้เป็นการส่วนตัว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำของไทยเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 300 บาท/วัน ส่วนวันนี้ 337 บาท/วัน ขึ้นไป 12% ซึ่งได้เปรียบเทียบว่า หากลูกของผู้ประกอบกิจการทั้งหลาย หรือคนที่เรียนจบเมืองนอกเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เงินเดือน 30,000 บาท มาถึงวันนี้เงินเดือนขึ้นเพียง 33,700 บาท

นายกรัฐมนตรี ยังได้ตั้งคำถามถึงไตรภาคีว่า ค่าแรงขึ้นมาแค่ 10% กว่าๆ แฮปปี้หรือไม่ อยากให้นึกถึงใจเขาใจเรา เรื่องของไตรภาคีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของกฎหมาย และข้อบังคับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลายเรื่องคนไทยอยู่ด้วยกัน ด้วยความอยากให้ทุกคนมีความสุข และมีกินมีใช้ตามความเหมาะสม”

“ค่าแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปรับขึ้นแค่ 2 บาท ทุกคนจะพูดอย่างไรว่านายกฯ ไม่มีอำนาจ แต่การขึ้นค่าแรงมันเป็นเรื่องของไตรภาคีหรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนตัวเข้าใจหมดทุกอย่าง และรู้ว่าทุกคนเข้าใจเรื่องกฎหมาย แต่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย จึงอยากให้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน มาพูดคุยกันได้หรือไม่ ในภาวะที่เดือดร้อนนี้” นายเศรษฐา กล่าว

พร้อมระบุว่า จะต้องพยายามต่อไป โดยต้องพูดจาให้มีความชัดเจน และต้องขอร้องวิงวอนถึงเหตุผล อย่าเอาเรื่องที่ไม่เป็นความจริงมาพูด เช่น ประเด็นการย้ายฐานการผลิต เพราะมันไม่ใช่ ขณะเดียวกัน เห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละปี สามารถปรับขึ้นได้หลายรอบตามความเหมาะสม

“ไม่ได้อยากใช้พื้นที่ของสื่อมวลชนมากดดันทุกๆ ฝ่าย แต่คิดว่า เราควรจะพูดจากันด้วยจิตใจปราศรัย เราก็เห็นใจซึ่งกันและกันในแง่เพื่อนมนุษย์มากกว่า” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายเศรษฐา ยอมรับว่า ส่วนตัวความคาดหวังกับเศรษฐกิจในปีหน้าว่าจะดีขึ้น การเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และต้องทำให้ดีขึ้นในหลายหลายมิติ ไม่ใช่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องการลงทุน การเจรจาการค้า สิทธิขั้นพื้นฐาน เพศสภาพ การประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพเล็กๆ เช่น เรื่องของสภาพอากาศที่สะอาด ซึ่งทุกคนล้วนต้องการ

อย่างไรก็ดี หลังปีใหม่ไปแล้ว นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางไปพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจะไปช่วยกำกับดูแลเรื่องปัญหาสภาพอากาศ เพื่อทำให้ดีขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , , ,