กระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ค่าจ้างที่แท้จริง (real wages) ซึ่งปรับค่าเงินเฟ้อแล้วนั้น ลดลง 3% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของค่าจ้างในญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวลง ท่ามกลางเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
การปรับตัวลงของค่าจ้างส่งผลให้ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ต่อไป และการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนดัชนีนิกเกอิปิดตลาดภาคเช้าพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2533
ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวลง 4.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการร่วงลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2564 เนื่องจากประชาชนปรับลดการใช้จ่ายด้านการศึกษาและอาหาร ท่ามกลางราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
การใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งรวมถึงการศึกษาเสริม ร่วงลง 19.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การใช้จ่ายด้านอาหาร ลดลง 1.1% ซึ่งรวมถึงการซื้ออาหารทะเลลดลง 8.7% โดยส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายด้านการเดินทางและการรับประทานอาหารนอกบ้านปรับตัวขึ้น หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 โดยการใช้จ่ายด้านนันทนาการและการพักผ่อนพุ่งขึ้น 4.6%
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนเป็นดัชนีชี้วัดการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 66)
Tags: BOJ, การเงิน, ค่าจ้าง, ญี่ปุ่น, เงินเฟ้อ