นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างรอคำตอบจาก กทม. ที่จะสรุปรายละเอียดภาระหนี้และรูปแบบดำเนินการ โดยในสัปดาห์หน้าสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะสรุปแนวทางการแก้ปัญหา ก่อนจะนำเรื่องส่งให้กับกระทรวงมหาดไทยต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากตาม ม.44 ต้องให้มหาดไทยเป็นผู้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากจะให้แยกหนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ออกจากส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ซึ่งข้อดีของ E&M คือหากนำมาเป็นของกทม. ได้จะทำให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องรอทางสภา กทม. อีกครั้งหนึ่ง
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เงินที่จะจ่ายค่า E&M ไม่สามารถนำเงินฝ่ายบริหารของ กทม.มาจ่ายได้ ต้องเป็นเงินสะสมจ่ายขาด หรือการทำสัญญาต่างๆ หากมีความผูกพันเรื่องหนี้ สภากทม.ต้องเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ดีที่คณะกรรมการศึกษาล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นเมื่อเข้าใจดีแล้ว การนำเข้าสภากทม.ก็จะง่ายขึ้น ในส่วนความยากง่ายในการดำเนินการ มองว่าหากมีแนวทางขั้นตอนที่ชัดเจนก็ไม่ยาก และรัฐบาลก็คงจะเร่งรัดในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย
สำหรับวันนี้ นายชัชชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกทม. ได้เข้าพบนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย โดยนายชัชชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ถือโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ รมช.มหาดไทย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานของ กทม. เพื่อแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ
“จริงๆ แล้วมีความคุ้นเคยกันมานานแล้ว เพราะท่านก็ดูแลพื้นที่อุบลราชธานีอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งตอนที่ดำรงตำแหน่งเป็นรมว.คมนาคม ได้เคยประสานงานกันในเรื่องต่างๆ วันนี้จึงรู้สึกดีใจที่ท่านได้มากำกับดูแลกทม.” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในส่วนของ กทม. พร้อมจะร่วมมือทุกอย่าง ทั้งเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว, การบำบัดน้ำเสียซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกทม. โดยตรง เนื่องจากกทม. มีการบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน เนื่องจากต้องมีการดำเนินงานร่วมกัน เช่น กรณีน้ำท่วม ที่ต้องมีการเยียวยาบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น ดังนั้น กทม. พร้อมร่วมมือการทำงานเพื่อประโยชน์ของคนกทม.
ด้านนายเกรียง กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ และพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนงานด้านต่างๆ ของกทม.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 66)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รถไฟฟ้าสายสีเขียว