ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) โดยระบุว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในขณะนี้ โดยเฟดเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา
ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนได้ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ ขณะที่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้และมีการใช้นโยบายสนับสนุนที่แข็งแกร่งนั้น สัญญาณบ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานก็มีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ แม้ว่าภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดยังคงอ่อนแอ แต่ก็มีสัญญาณบ่งชี้ว่าหลายภาคส่วนได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวขึ้น โดยส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัจจัยต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ส่วนภาวะทางการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงมาตรการด้านนโยบายต่างๆ ที่นำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจัดสรรสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของสหรัฐ
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้านั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคาดว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนจะยังคงช่วยลดผลกระทบของวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขที่มีต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยังคงมีอยู่
คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ จากการที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงตั้งเป้าหมายที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 2% ในบางช่วงเวลา เพื่อให้อัตราเฉลี่ยของเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% และทำให้ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 2% โดยคณะกรรมการจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
คณะกรรมการ FOMC ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% โดยคณะกรรมการคาดว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวไปจนกว่าภาวะตลาดแรงงานจะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศัยภาพตามที่เฟดประเมินไว้ และอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นแตะระดับ 2% และอยู่ในทิศทางที่จะปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 2% ในบางช่วงเวลา นอกจากนี้ คณะกรรมการเฟดจะยังคงเพิ่มการถือครองหลักทรัพย์ของกระทรวงการคลังอีกอย่างน้อย 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และเพิ่มการถือครองหลักทรัพย์ที่มีหนี้จำนองค้ำประกัน (MBS) อีกอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดต่างๆ ดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น และช่วยสนับสนุนภาวะด้านการเงินให้เป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้สินเชื่อไหลเวียนไปสู่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาความคืบหน้าทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ
สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, โธมัส ไอ บาร์กิน, ราฟาเอล ดับเบิลยู บอสติก, มิเชล ดับเบิลยู โบวแมน, ลาเอล เบรนาร์ด, ริชาร์ด เอช คลาริดา,แมรี ซี ดาลี, ชาร์ลส อีแวนส์, แรนดัล เค ควอร์เลส และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 64)
Tags: Fed, FOMC, ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, สหรัฐ, อัตราดอกเบี้ย, เฟด