คาดเปิดจราจรบนถ.พระราม 2 ได้ในสัปดาห์นี้ หลังรื้อถอนโครงสร้างเหล็กถล่มเร็วกว่าคาด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานความคืบหน้าการรื้อถอนโครงสร้างเหล็ก Launching Gantry (LG) และชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ถล่มบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดิมตั้งเป้าจะปลดชิ้นส่วนโครงสร้างที่เหล็กที่เสียหายด้านบนลงได้หมดภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากเกิดเหตุ แต่ล่าสุด กรมทางหลวงรายงานว่า สามารถดำเนินการได้ภายใน 10 วัน ซึ่งเร็วกว่ากำหนด จากนั้นจะเร่งเคลียร์พื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยทั้งหมด คาดว่าจะสามารถเปิดการจราจรถนนพระราม 2 ได้ภายในสัปดาห์นี้

ขณะนี้ผู้รับเหมาในสัญญาที่เกิดอุบัติเหตุยังให้หยุดการก่อสร้างไปก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบการทำงานที่มีความปลอดภัยเข้มข้นกว่าเดิม

ส่วนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ซึ่งประชาชนจะเดินทาง ผ่านถนนพระราม 2 จำนวนมาก ได้ให้ผู้รับเหมาทุกสัญญาหยุดการก่อสร้างเป็นเวลา 7 วัน ตามมาตรการ 7 วันอันตราย ซึ่งเมื่อกลับมาก่อสร้างนั้น จะให้ดำเนินการก่อสร้างได้เฉพาะเวลากลางคืน ที่มีปริมาณจราจรน้อยกว่าช่วงกลางวัน ทำให้สามารถปิดช่องทางการจราจรและทำให้ผู้รับเหมามีพื้นที่ทำงานได้มากขึ้น และหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นก็จะกระทบเฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างที่กั้นพื้นที่ไว้ จะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวถึงความคืบหน้าการรื้อถอนโครงสร้างเหล็ก Launching Gantry (LG) และชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตที่ได้รับความเสียหายบนถนนพระราม 2 ว่า ทีมวิศวกรได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงเช้า วันที่ 8 ธันวาคม 2567 ต่อเนื่องมาตลอดคืน จนถึงช่วงเช้า วันที่ 9 ธันวาคม 2567 เพื่อดำเนินการตัดชิ้นส่วนโครงสร้างส่วนท้าย (ฝั่งขาออก) ความยาว 35 เมตร น้ำหนัก 23 ตัน ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และเมื่อเวลา 06.00 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ได้ดำเนินการปลดชิ้นส่วนคอนกรีต segment จำนวน 3 ก้อน ออกจากโครงสร้างเหล็ก LG (ฝั่งขาเข้า) พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

และในวันนี้ (9 ธ.ค. 67) ทีมวิศวกรจะดำเนินการต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้ คือ

– รื้อถอนโครงสร้างเหล็ก: ตัดโครงสร้างเหล็กส่วน Main Truss ด้านขาออก

– ปลดชิ้นส่วนคอนกรีต: ปลดชิ้นส่วนคอนกรีต segment ออกจากโครงสร้างเหล็ก LG ด้านขาเข้า

นายอภิรัฐย้ำว่า การดำเนินการต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความรอบคอบในการการเตรียมการอย่างละเอียดทุกขั้นตอน โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากกรมทางหลวง, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสภาวิศวกร ได้ร่วมบูรณาการวางแผนการรื้อถอนอย่างแม่นยำ โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

– สำรวจและวิเคราะห์โครงสร้างโดยรอบ, จุดเชื่อมต่อ, และความแข็งแรงของชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงและวางแผนการรื้อถอนที่ปลอดภัย

– กำหนดจุดตัดและลำดับขั้นตอนการรื้อถอนอย่างละเอียด เพื่อลดผลกระทบต่อโครงสร้างโดยรอบและป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ

– จัดเตรียมอุปกรณ์ตัดเหล็ก, รถเครน, และอุปกรณ์ยก-เคลื่อนย้าย ที่มีความเหมาะสมกับน้ำหนักและขนาดของโครงสร้าง

– ติดตามผลของระบบตรวจวัดและควบคุมการเคลื่อนตัวของโครงสร้างตลอดการดำเนินงาน เพื่อป้องกันการทรุดตัวหรือการเอียงตัว

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามกรอบเวลาที่วางแผนไว้ และยืนยันว่าจะเร่งรื้อถอนโครงสร้างเหล็ก Launching Gantry ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,