แอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวผ่านทางสมาร์ตโฟนนั้นได้รับความนิยมพุ่งขึ้นอย่างมากในไต้หวัน เนื่องจากประชาชนต้องการเวลาเพิ่มอีก 2-3 วินาทีเพื่อไปยังที่ปลอดภัย หลังจากเกิดอาฟเตอร์ช็อกกว่า 1,300 ครั้งเขย่าไต้หวันในเดือนเม.ย.ตามหลังการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ที่ชายฝั่งตะวันออกของไต้หวันเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย และนับตั้งแต่นั้นมาก็เกิดอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นหลายครั้งรวมถึงอาฟเตอร์ช็อกอีกกว่า 200 ครั้งในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง โดยเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. ซึ่งส่งผลให้มีผู้คนจำนวนมากตื่นตระหนก
แม้ว่ารัฐบาลไต้หวันมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวอัตโนมัติที่ส่งข้อความแจ้งเตือนเสียงดังไม่กี่วินาทีก่อนเกิดแผ่นดินไหว แต่ระบบดังกล่าวก็ไม่ได้ผลทุกครั้งไป โดยเฉพาะในกรุงไทเปเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ระบบไม่ได้ส่งเสียงแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ระบบดังกล่าว
จากปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการรับทราบถึงแผ่นดินไหวที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่งผลให้บรรดาแอปเตือนภัยแผ่นดินไหวที่พัฒนาโดยภาคเอกชนได้รับความนิยมมากขึ้น
นายหลิน รุ่ย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแอปเตือนแผ่นดินไหวที่เปิดตัวในปี 2565 ระบุว่า แอปของพวกเขาติดตามคลื่นแผ่นดินไหวที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วโดยใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์แผ่นดินไหวกว่า 130 ตัวที่ทีมงานได้ติดตั้งไว้ทั่วไต้หวันเพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้แอปล่วงหน้า และได้ยกตัวอย่างว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่ชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน ประชาชนในฝั่งตะวันตกซึ่งมีจำนวนมากกว่านั้น อาจได้รับคำเตือนล่วงหน้านานถึง 30 วินาทีก่อนที่แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นในฝั่งตะวันตก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 67)
Tags: สมาร์ตโฟน, แผ่นดินไหว, ไต้หวัน