คลัง เล็งถกกทม.ทบทวนภาษีที่ดิน อุดช่องโหว่รายใหญ่เลี่ยงภาษี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมเข้าหารือกับกระทรวงการคลังถึงแนวทางการทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่ออุดช่องโหว่การเอื้อรายใหญ่ จนอาจทำให้การจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นลดลง ว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียด โดยปัจจุบันมีการจัดเก็บในอัตรา 90% ยังไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ของท้องถิ่น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่ยังมีรายได้ใกล้เคียงกับของเดิม แต่ยังมีประเด็นเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเพื่อให้เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ส่วนเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น คงต้องหารือกันอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ กทม.ระบุว่าการจัดเก็บรายได้ปีนี้ค่อนข้างดี คาดว่าภายในสิ้นปีจะจัดเก็บภาษีได้ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจัดเก็บได้ค่อนข้างดี แต่ยังมีบางพื้นที่ที่จัดเก็บได้ลดลง เนื่องจากคลังเปลี่ยนวิธีคำนวณการประเมินภาษีทำให้ภาษีที่ดินจากแปลงใหญ่เก็บได้ลดลง

เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ตั้งเป้าลดสัดส่วนต่ำกว่า 80%

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีมูลหนี้ราว 15-16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90 กว่า% ของจีดีพี โดยเป้าหมายของรัฐบาลคือการปรับลดหนี้ครัวเรือนให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์วินัยการเงินการคลังที่ดี คือ ไม่ควรเกิน 80% ของจีดีพี ซึ่งแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้จะให้ทำในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก่อน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 1.5-1.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด จึงได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสินเป็นแม่งานในการบริหารจัดการหนี้เสียในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนทยอยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน ดำเนินเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) กับกลุ่มลูกหนี้ของธนาคารออมสินก่อน ซึ่งพบว่ามีลูกหนี้รายย่อยของธนาคารทยอยเข้าโครงการแล้วกว่า 1.5 หมื่นราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 5 พันล้านบาท

“ยอมรับว่าการจะลดหนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ที่ 80% ของจีดีพี ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ก็เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลอยากทำให้เกิดเร็วที่สุด โดยการเริ่มจัดการที่กลุ่มหนี้เสียก่อนเพราะทำได้ง่าย ซึ่งได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นแม่งานหลัก เพราะหนี้เสียในหนี้ครัวเรือนในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐนั้น อยู่ที่ออมสินน่าจะเยอะที่สุด โดยอาจจะให้ออมสินเซตเป็นเมนูง่าย ๆ เพื่อให้ลูกหนี้เสียเลือกเข้า ก็จะทำให้การบริหารจัดการทำได้ง่ายและเร็วขึ้น เช่น ถ้าจ่ายหนี้ครั้งเดียวเลยจะได้สิทธิประโยชน์อย่างไร หรือผ่อนชำระจะมีการดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็สามารถเข้ามาร่วมได้ ซึ่งหากทุกคนทุกสถาบันการเงินร่วมมือกันก็เชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงแน่นอน” นายกฤษฎา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,