คลัง เร่งกระตุ้นลงทุน-บริโภค-เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ หวังดัน GDP ปี 68 โตเกิน 3%

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยปี 68 จะเติบโตได้อย่างน้อย 3% แต่รัฐบาลไม่ได้วางโจทย์ไว้แค่ระดับดังกล่าว เพราะต้องการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจก้าวหน้า ดังนั้น หากสามารถผลักดันไปให้สุดได้มากเท่าไหร่ก็จะเร่งดำเนินการ เนื่องจากมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยแก้ปัญหาในหลาย ๆ จุดได้ โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวที่อยู่ในระดับสูง อาทิ หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน เป็นต้น

ดังนั้น ในปีนี้สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การเร่งกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นการบริโภค ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากต้องยอมรับว่าปัจจุบันภาษีหลายประเภทมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะภาษีศุลกากร ที่ทิศทางของโลกจัดเก็บได้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากการทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีมากขึ้น

ดังนั้น กระทรวงการคลังจะต้องมาพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ทำได้มากขึ้น และยังเป็นไปตามเป้าหมาย เช่นเดียวกับภาษีสรรพากรที่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ท้าทาย เพราะถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล แต่การจัดเก็บที่ทำได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะเป็นภาระกับภาคเอกชนและประชาชนมากขึ้นเท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมาหาจุดที่สมดุลที่สุด

“เรื่องปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากรัฐบาลเข้ามาได้เห็นปัญหาที่ฝังอยู่ใต้พรมเยอะมาก สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะตึงตัว ส่วนสภาพความเป็นรัฐก็ยังเจอปัญหาหลายอย่างที่จะต้องปรับเพื่อให้ขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น ขณะที่ภาคตลาดทุน ปีที่ผ่านมาอาจจะเห็นภาพเหมือนฝีแตก มีเรื่องออกมาหลายเรื่อง ดังนั้น ทั้งหมดจำเป็นจะต้องได้รับการเข้าไปดูแลอย่างลงรายละเอียด” นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ การเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อให้การเติบโตสูงขึ้น เพราะเชื่อว่าจะมีส่วนแบ่งกลับไปที่ประชาชนได้มากขึ้น เช่น การเติบโตของจีดีพีที่เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจสำหรับประชาชน ทั้งในระยะต่อไปและที่ผ่านมาชัดเจนมากขึ้น แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการเติบโตอาจจะไม่มาก แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอารมณ์ทางเศรษฐกิจ ผ่านการจับจ่ายใช้สอยจะเห็นความแตกต่างอย่างมาก ดังนั้น โจทย์สำคัญของรัฐบาลคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปอยู่ในจุดที่ต้องการ ซึ่งยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ก็ต้องเร่งดำเนินการ

รมช.คลัง กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ นั่นคือการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะเรื่องการทบทวนสวัสดิการที่รัฐให้กับประชาชนทั้งหมด ตามแนวคิดเรื่องการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ (Negative Income Tax: NIT) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย และหนักพอสมควร แต่รัฐบาลต้องพยายามปรับเพื่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดหรือขีดเส้นชัดเจนว่าจะต้องสรุปเมื่อไหร่ เพราะคงระบุชัดเจนขนาดนั้นไม่ได้ เบื้องต้นหากจะทำคงทยอยทำเป็นระยะ (เฟส) จะปรับเปลี่ยนทีเดียวทั้งหมดคงไม่ได้ เนื่องจากระบบใหญ่เกินไป

“เรื่อง NIT เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าจะทำอาจจะมาเป็นเฟส เพราะระบบมันใหญ่เกินไป ในเบื้องต้นเราอาจไม่ได้ดึงสวัสดิการทุกประเภทเข้ามาอยู่ในคราวเดียว อาจเอาเข้ามาเฉพาะที่ทำได้ก่อน แล้วค่อย ๆ รวมเข้ามา เพราะสวัสดิการทั้งหมดมีกว่า 20 ประเภท ทั้งคนชรา คนพิการ เป็นต้น เอามาทีเดียวเป็นไปไม่ได้ และสุดท้ายหากระบบสมบูรณ์แล้ว นั่นหมายถึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเรื่องระบบการยื่นภาษี ทุกคนจะต้องถูกบังคับเข้ามาอยู่ในระบบภาษี แม้ว่ารายได้จะไม่ถึงจุดที่ต้องเสียภาษีก็ตาม เพื่อให้รัฐได้เข้าไปดูได้ว่าใครมีสิทธิ์ที่จะได้รับสวัสดิการอะไรหรือไม่ เหมือนกับต่างประเทศที่ทำเรื่อง Social Security Number ซึ่งมีลักษณะคล้ายบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ส่วนรายละเอียดยังไม่ได้มีการสรุป ยังต้องหารือกันอีกมาก อยากให้รอก่อน” รมช.คลัง ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 68)

Tags: , , , , ,