สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … ตั้งแต่วันที่ 2-18 ส.ค.67 จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไป ผ่านทางเว็บไซต์ของ สศค. และผ่านระบบกลางของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่ง สศค.ได้สรุปผลความคิดเห็นในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ชื่อของร่าง พ.ร.บ.
มีความเห็นว่าชื่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถาบันเทิงครบวงจร มีความหมายกว้างเกินไป ไม่สะท้อนเป้าหมายหลักของกฎหมาย จึงเสนอให้แก้ไขชื่อเป็น “ร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการท่องเที่ยวครบวงจร” (Integrated Resort Act) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของประเทศอื่น ที่มองกิจการประเภทนี้ว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และน่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในเชิงบวกต่อโครงการได้มากกว่า
2. โครงสร้างและการบริหารจัดการของคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร
ในร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถาบันเทิงครบวงจร ที่มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกฯ เป็นรองประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบายของสถานบันเทิงครบวงจรทั้งหมด ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการ การป้องกันแก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบ การกำหนดจำนวนใบอนุญาต และพื้นที่ประกอบการ ตลอดจนหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขออนุญาต และเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ประเภทกิจการที่อาจดำเนินการได้ เวลาเปิด-ปิด หลักเกณฑ์ผู้ถือหุ้น การพิจารณาต่ออายุหรือเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น
ซึ่งมีความเห็นว่าคณะกรรมการฯ มีอำนาจมากเกินไป โดยควรกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร หรือมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของการประกอบสถานบันเทิงครบวงจรไว้ในร่าง พ.ร.บ.เลย
– มีข้อเสนอว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด ควรมาจากการเปิดรับสมัครสรรหาที่ตรวจสอบได้โดยประชาชน โดยมาจากหลายภาคส่วนทั้งด้านพัฒนาชุมชน, สิทธิมนุษยชนทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผู้ทำงานด้านลดผลกระทบจากอบายมุข เศรษฐกิจมหภาค สังคมวิทยา ธุรกิจ SMEs และภาคประชาสังคมจากพื้นที่ตั้งสถาบันเทิงครบวงจร ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อความโปร่งใส
– ควรมีคณะกรรมการบริหารระดับพื้นที่จังหวัดที่มีการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร
3. ประเภทธุรกิจในสถานบันเทิงครบวงจร
– เสนอให้กำหนดเพิ่มจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.อย่างน้อย 4 ประเภท เป็น 7 ประเภท (ในบัญชีแนบท้าย ประกอบด้วยประเภทธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้ (1)ห้างสรรพสินค้า (2) โรงแรม (3) ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์ (4) สนามกีฬา (5) ยอร์ช และครูซซิ่งคลับ (6) สถานที่เล่นเกม (7) สระว่ายน้ำและสวนน้ำ (8) สวนสนุก (9) พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP (10) กิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด)
4. ภาษี
– เสนอให้กำหนดอัตราภาษีจากการพนันให้ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินของผู้ประกอบการ
– ควรกำหนดการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับผู้ประกอบการไว้อย่างชัดเจน และไม่ควรเก็บภาษีเงินได้จากผู้เล่น ทั้งที่เป็นคนไทย และคนต่างชาติ
– ควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ผู้รับใบอนุญาตในช่วง 10 ปีแรก
5. การคัดเลือก และสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาต
– กระบวนการคัดเลือกผู้รับใบอนุญาต ควรเปิดประมูลโดยชอบธรรม และเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้
– ควรกำหนดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นไทยให้ชัดเจน เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นไทย ควรมีอย่างน้อย 30-51% เพื่อสนับสนุนให้เอกชนในไทยมีรายได้มากยิ่งขึ้น
– ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่จดทะเบียนในไทย เพื่อป้องกันนอมินีต่างชาติ
– ควรกำหนดอายุใบอนุญาตไว้
6. อายุ-จำนวนใบอนุญาต
– มีความเห็นทั้งฝ่ายที่มองว่าการกำหนดอายุใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่ 30 ปีนั้น นานเกินไป ควรลดเหลือเพียง 10 ปี ในขณะที่บางฝ่ายมองว่า ใบอนุญาต 30 ปีสั้นเกินไป โดยสามารถต่ออายุได้อีก 30 ปี หรือกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุ 50-60 ปี
– ควรกำหนดให้ชัดเจนในร่าง พ.ร.บ. แต่ไม่ควรกำหนดให้มีใบอนุญาตมากเกินไป เช่น ไม่เกิน 3-7 ราย อีกทั้งควรกำหนดว่าในแต่ละพื้นที่มีใบอนุญาตได้กี่ใบ เช่น ในกรุงเทพฯ ไม่เกิน 2-3 ราย และนอกกรุงเทพฯ ไม่เกิน 5-7 ราย
7. สถานที่ตั้ง-การเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากาสิโน
– ควรกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนใน พ.ร.บ. เช่น ต้องมีที่ตั้งนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมลฑล เพื่อกระจายรายได้ และควรกระจายไปยังภูมิภาคที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง หัวหิน หรือ กทม.
– ใน พ.ร.บ. มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการเข้าเล่นกาสิโนของคนไทยไว้สูงเกินไปที่ 5,000 บาท ซึ่งควรกำหนดไว้ที่ 1,000-2,000 บาท และควรกำหนดค่าธรรมเนียมไว้คงที่สำหรับการเข้าเล่นของคนไทย เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ
8. พื้นที่กาสิโน
– ควรกำหนดพื้นที่การเล่นให้ชัดเจน ไม่มากหรือน้อยเกินไป โดยควรกำหนดสัดส่วนของพื้นที่กาสิโนไว้ที่ 5-20% และพื้นที่กาสิโน ควรเปิดทำการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
9. ประเภทของกาสิโน
– ควรกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจกำหนดการเล่นชนิดอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น มวย, ม้า และศึกษาประเภทของกาสิโนที่เล่นในต่างประเทศเทียบเคียงด้วย
– ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องกำหนดห้ามการพนันออนไลน์ในร่าง พ.ร.บ. เนื่องจากการกระทำดังกล่าว ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการพนันอยู่แล้ว
10. การจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบทางสังคม
– มีการตั้งข้อสังเกตว่า สถานบันเทิงครบวงจรอาจกลายเป็นแหล่งของการฟอกเงิน นอกจากนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคม เช่น การติดพนัน ครอบครัวแตกแยก ปัญหาอาชญากรรม และความสงบเรียบร้อยของประเทศ
– เสนอให้มีกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบทางสังคม
โดยก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ระบุว่า การพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่อง Entertainment Complex คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในเดือนต.ค.นี้ ก่อนนำรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบความคืบหน้าต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 67)
Tags: ร่าง พ.ร.บ., สถานบันเทิงครบวงจร, สศค, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง