นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีหากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่คาดว่าจะล่าช้าออกไปราว 6 เดือน เนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลใหม่นั้น กระทรวงการคลังมีแผนรองรับไว้พร้อมแล้ว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น
1.การนำงบประมาณรายจ่ายประจำที่สามารถเบิกจ่ายก่อนได้ จากเดิมที่จะเบิกจ่ายช่วงปลายปีงบประมาณ ให้นำมาใช้ก่อนในช่วงต้นปีงบประมาณทันที เช่น งบอบรม สัมมนา ซึ่งมีอยู่ราว 5-6 หมื่นล้านบาท
2.งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ จะต้องไปดูว่ามีเท่าใดที่จะสามารถเร่งเบิกจ่ายได้
3.เป็นโครงการต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) อีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
นายกฤษฎา เชื่อว่างบจากทั้ง 3 ส่วนนี้ จะสามารถเพียงพอรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อระหว่างที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ไปพลางก่อนได้
“เรามีมาตรการ front load เตรียมพร้อมแล้ว ส่วนที่จะเข้ามาช่วยทดแทน เป็นงบลงทุนรัฐวิสาหกิจของหลายหน่วยงานทั้งหมด 5 แสนล้านบาท ก็น่าจะเอามา front load ได้ก่อน 5-6 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนเป็นโครงการของ SFI อีกราว 7 หมื่นล้านบาทมารวมกัน รีบเอามาดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 67 ซึ่งทาง สศค.เตรียมเรื่องนี้ไว้แล้ว เชื่อว่าเพียงพอที่จะมาทดแทน (ช่วงงบปี 67 ล่าช้า)”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่งบประมาณปี 67 ล่าช้าออกไปราว 6 เดือน หรืออาจจะเร็วกว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วนั้น จะมีผลต่อ GDP ปี 66 เพียง 0.05% เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะจะมีการนำงบประมาณรายจ่ายของปี 66 ส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายไปพลางก่อน ในระหว่างที่รองบประมาณปี 67 ซึ่งสำนักงบประมาณ อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ว่าจะมีงบรายจ่ายจากส่วนใดที่สามารถนำออกมาใช้ได้บ้าง เช่น งบรายจ่ายลงทุนที่ได้ผูกพันไว้แล้ว ซึ่งจะต้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบก่อน โดยจะเป็นการทำคู่ขนานไปกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 67
“เราไม่มีเกียร์ว่างแน่นอน 100% มาตรการทั้งหมดที่เตรียมไว้ในส่วนของการเงิน การคลัง มาตรการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายอย่างไร มาตรการประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลตัวจริง หน่วยงานราชการทุกกระทรวง สามารถเดินได้ภายใต้ระบบราชการ”
นายกฤษฎา กล่าว
นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.6% ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ราว 29 ล้านคน ในขณะที่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัด จะกลับมาเกินดุลที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.6% กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลัง จะมีการทบทวนตัวเลขจีดีพีสำหรับปี 66 ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยที่เปลี่ยนไปจากสมมติฐานเดิมที่วางไว้ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่ามากขึ้น ซึ่งส่งผลทั้งแง่บวก และผลข้างเคียง รวมทั้งกรณีของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
สำหรับแผนการคลังระยะปานกลางปี 66-70 นั้น จะยังเป็นการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยตั้งแต่ปีงบ 67 มีความพยายามที่จะควบคุมสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีไม่ให้เกิน 3% และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 67 ตั้งเป้ารายได้ที่ 2.75 ล้านล้านบาท และรายจ่ายที่ 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 3% ต่อจีดีพี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 66)
Tags: กระทรวงการคลัง, กฤษฎา จีนะวิจารณะ, งบประมาณรายจ่าย, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย