นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถางาน Bangkok Post ESG Conference 2024 โดยระบุว่า การพัฒนาด้าน ESG เป็นหัวข้อสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ดีและมั่นคงให้กับประเทศไทยและโลกใบนี้ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมในมิติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทวีความสำคัญขึ้นอย่างยิ่งในเวทีโลก
อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลก แต่เราเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยธรรมชาติที่เกิดจากอุณหภูมิที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นลำดับที่ 9 ของโลก และรายงานการศึกษาจากหลายองค์กร พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และภาระทางการคลังในอนาคต
“ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นายพิชัย กล่าว
พร้อมประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% จากภาคส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว รวมทั้งภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ไทยในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงกว่าในอดีต ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องปรับตัว และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคส่วนที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากปัจจัยภายในประเทศแล้ว ในเวทีการค้าโลกได้เริ่มนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวรองรับการค้าโลกในยุคอนาคตด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Hub ของอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งอนาคตภายใต้วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้ศูนย์กลางของ 8 อุตสาหกรรม คือ การรักษาพยาบาลและสุขภาพ, อาหาร, การบิน, โลจิสติกส์การผลิต, ยานยนต์แห่งอนาคต, เทคโนโลยีดิจิทัล และการเงิน
ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริม Low-carbon Economy ซึ่งช่วยให้ภาคเอกชนปรับตัว และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พลิกโฉมประเทศไทยจากฐานการผลิตเป็นฐานการคิด และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่คิดค้นโดยคนไทย โดยเฉพาะเทคโนโลยีการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) จะช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมภาคการเงินเพื่อยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยกระทรวงการคลังกับหลายหน่วยงานจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรของประเทศบนพื้นฐานของความยั่งยืน เช่น การทำ Taxonomy การเปิดเผยข้อมูล ESG การสร้างมาตรการจูงใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น
นายพิชัย กล่าวว่า ภาคตลาดทุนมีความสำคัญในการผลักดันการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังเล็งเห็นดังนี้
1. เร่งส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และการจัดตั้งตลาดคาร์บอนในประเทศไทย ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียน การซื้อขาย และการตรวจสอบคาร์บอนเครดิตที่เป็นมาตรฐานสากล
2. การพัฒนาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนด้วยการสนับสนุน ให้รัฐวิสาหกิจออก Green Bond และ Sustainability-linked Bond เพื่อสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืน
โดยกระทรวงการคลัง มองว่า มาตรการทางภาษีก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิต ภายใต้โครงการ T-VER การส่งเสริมการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนหรือ Thai ESG ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG การส่งเสริมพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำด้วยการนำปริมาณการปล่อยคาร์บอนมาประกอบการพิจารณากำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวที่ครอบครองโดยเอกชน ซึ่งปัจจุบันอาจถูกตีความว่าเป็นที่รกร้าง และไม่ได้ใช้ประโยชน์ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมสำหรับที่ดินของเอกชนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สีเขียว
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการภาษี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
– ระยะสั้น จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก และลดการใช้พลังงานด้วยการอนุญาตให้หักลดหย่อนการซื้อ และติดตั้ง Solar Cell บนหลังคาบ้าน การอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมาหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในด้านการวิจัย และพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับ Climate Tech
– ระยะกลาง จะส่งเสริมการปรับตัวไปสู่Low-carbon Activities และสร้าง Ecosystem ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ค่าใช้จ่ายในการวัด Carbon Footprint เพื่อให้ผู้ประกอบการ วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต เพื่อกระตุ้นในภาคเอกชนขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Supply และสภาพคล่องในตลาดคาร์บอนเครดิตอีกด้วย เป็นต้น
– ระยะยาว จะเน้นการผลักดันภาษีคาร์บอน เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วนปรับตัวเพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ตาม Paris Agreement โดยจะพิจารณาผลกระทบที่รอบด้าน และเงื่อนไขด้านเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง และพัฒนากลไกเยียวยาที่เหมาะสม
“การดำเนินนโยบายตามที่ได้กล่าว รวมทั้งการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนที่ยึดหลัก ESG จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรม และมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม ซึ่งจะยกระดับรายได้ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน” นายพิชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 67)
Tags: ESG, กระทรวงการคลัง, พิชัย ชุณหวชิร, สภาพภูมิอากาศ, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย