คลัง คาดศก.ไทยปี 68 โต 3% แรงหนุนบริโภคเอกชน-ส่งออก-ท่องเที่ยว-ลงทุนโตต่อเนื่อง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีนี้ มาอยู่ที่ 3.0% (ช่วง 2.5 – 3.5%) จากปัจจัยบวก 4 ด้านหลัก คือ 1.การบริโภคภาคเอกชน 2.การส่งออกสินค้า 3.การท่องเที่ยว และ 4.การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 2.9% ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 3.1% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีจำนวน 39 ล้านคน รวมถึงมีแรงสนับสนุนสำคัญจากงบประมาณปี 2568 ที่พร้อมเร่งเบิกจ่าย

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปี 2568 การลงทุน จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 2) การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน และการเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1% เร่งขึ้นจากปีนี้ ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.7% ของ GDP

นายพรชัย กล่าวว่า ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ

1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ เกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์หลังมีการซ้อมรบของกองทัพเรือจีนและรัสเซียในบริเวณดังกล่าว รวมถึงการขยายบทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ BRICS และการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการเชิงยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CRINK (จีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ) ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อสหรัฐอเมริกาในเรื่องระเบียบโลกใหม่

2. ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่

3. การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย

4. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะบั่นทอนการใช้จ่ายในระยะต่อไป

5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด

*ปี 67 คงคาดการณ์ GDP โต 2.7%

นายพรชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลัง คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 67 ไว้ที่ 2.7% (ช่วง 2.2-3.2%) คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อน และขยายตัวต่อเนื่องจากปี 66 ที่ขยายตัว 1.9% นำโดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปี 67 คาดว่าจะมีจำนวน 36 ล้านคน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 4.6%

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2.9% เนื่องจากมีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 และ 3 จากโอกาสของผู้ประกอบการไทย แทนที่สินค้าจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐอเมริกา ส่วนการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 2.1% การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 0.8%

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 0.4% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.9% ของ GDP

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,