นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวภายหลังนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายแก้หนี้ว่า หลังจากนี้ จะมีการกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของรัฐบาล โดยในส่วนที่เป็นหนี้เสีย จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทั้งหมด 4 กลุ่ม ส่วนลูกหนี้ดี รัฐบาลจะมีการออกมาตรการจูงใจเพื่อรักษาวินัยในการชำระหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน ที่ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตราการจูงใจเรียบร้อยแล้ว
สำหรับมาตรการจูงใจลูกหนี้ดีนั้น หลักการเบื้องต้น อาจจะให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย และตัดเงินต้นเพิ่ม เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจและช่วยลดภาระให้ลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ผ่อนเดือนละ 10 บาท เคยตัดเงินต้น 8 บาท ตัดดอกเบี้ย 2 บาท ก็จะมีมาตรการจูงใจโดยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 1 บาท และตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาระของลูกหนี้ลดล และสามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้นด้วย
“ตอนนี้ หนี้ครัวเรือนรวมทั้งระบบ มีมูลหนี้ราว 16 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ เป็นหนี้เสีย หนี้จ่อตกชั้น และหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ ประมาณ 10% หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ประมาณ 1 ล้านกว่าราย ซึ่งเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลที่ออกมา จะบริหารจัดการได้” นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับลูกหนี้ รหัส 21 จากสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 1 หมื่นบาท ที่ปล่อยกู้ในช่วงโควิด-19 โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาทนั้น ได้มีการกันสำรองหนี้เสียไว้ก่อนแล้วประมาณ 50% ของวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้มาตรการจบเรียบร้อยแล้ว พบว่า เป็นหนี้เสียราว 30% หรือประมาณ 7 พันล้านบาท ก็จะตัดหนี้ให้เลย และนำเงินที่กันสำรองดังกล่าวมาชดเชยให้ธนาคาร ลูกหนี้รหัส 21 ในกลุ่มนี้ก็จบ หลุดจากการติดเครดิตบูโร และสามารถไปกู้ใหม่ได้ ส่วนกระบวนการกู้ ก็เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร
รมช.คลัง ยังกล่าวถึงลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีว่า มีจำนวนไม่มาก ประมาณ 1 แสนกว่าราย ในส่วนนี้ก็จะเข้ามาตรการพักหนี้กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และ AMC ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
“จะมีการตั้ง AMC ขึ้นมาดู แต่เบื้องต้น หากธนาคารสามารถช่วยลูกหนี้ของตัวเองก่อนได้ ก็อยากให้ช่วย แต่ถ้าไม่ได้ ก็ส่งมาที่ AMC ซึ่ง AMC ก็จะมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เอสเอ็มอียังเดินหน้าไปต่อได้” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากมีการกำหนดระยะเวลาการคัดเลือกลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของรัฐบาลแล้ว ก็จะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้จะครอบคลุมและเพียงพอในการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาได้
ในส่วนของหนี้สหกรณ์นั้น หลักการเบื้องต้น จะเริ่มดำเนินการกับสหกรณ์ที่ทำหน้าที่คล้ายสถาบันการเงิน อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนก่อน โดยธนาคารออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้กับสกหรณ์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ต่อให้กับสมาชิกในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง หรือให้ลูกหนี้ของธนาคารออมสิน ที่คิดว่าปัจจุบันดอกเบี้ยแพงสามารถรีไฟแนนซ์ไปอยู่กับสหกรณ์ให้ดูแลต่อได้ โดยมีเงื่อนไขว่า สหกรณ์ที่จะได้รับสินเชื่อจากธนาคารออมสิน จะต้องเข้าเครดิตบูโรด้วย
“สหกรณ์จะต้องปรับตัว โดยการเข้าเครดิตบูโรก่อน เพราะวันนี้ เราเห็นหนี้ในสถาบันการเงินทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่เห็นหนี้ของกลุ่มสหกรณ์ ดังนั้นจะต้องมีกระบวนการเพื่อให้เห็นหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดก่อนว่าอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อให้แก้ได้ง่าย และเจ้าหนี้สหกรณ์จะได้ระมัดระวังได้มากขึ้น กรณีที่สหกรณ์บางแห่ง มีการกู้จนเต็มเพดานแล้ว ซึ่งสหกรณ์ก็จะต้องยอมรับความจริง เพื่อให้สามารถเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไปได้”
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 66)
Tags: กฤษฎา จีนะวิจารณะ, พักหนี้, มาตรการพักหนี้, ลวรณ แสงสนิท, หนี้เสีย