คลังเดินหน้าแผนพัฒนาทักษะทางการเงิน มุ่งสู่ผลลัพธ์ที่เข้มแข็งทั้งศก.-สังคม

นายกฤษฎา จีนะวิจารณ รมช.คลัง กล่าวเปิดงานสัมนา “Fis and Fin Forum 2023” จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และการดำเนินนโยบายเข้มงวดของธนาคารกลางของประเทศคู่ค้า รวมทั้งความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดการเติบโตเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ในส่วนของประเทศไทย ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งผลต่อภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ชุมชน หรือครอบครัว ปัญหาต่างๆ ถ้าขาดวางแผนที่ดีก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว ทำให้ปัญหาครัวเรือนเกิดปัญหาได้ แม้รัฐจะสร้างกลไกการออมเพื่อการชราภาพและเพื่อการเกษียณอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นลักษณะบริโภคนิยมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมใช้จ่ายไม่ระมัดระวัง มีการก่อหนี้เพิ่มต่อเนื่อง ส่งผลหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ระดับ 90.7% ต่อจีดีพี

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า หลายครัวเรือนมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่าย ขาดวินัยในการออม มีความเปราะบางทางการเงินสูง ประกอบการการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลง รูปแบบการบริหารและผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลาย และมีความซับซ้อนมากขึ้น และยังมีประชาชนจำนวนมากยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ และความไม่เข้าใจบริการการเงินรูปแบบใหม่อย่างท่องแท้ ทำให้ไม่สามารถป้องกันตนเองได้

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ภาครัฐได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินปี 66-70 เพื่อเป็นกรอบนโยบายและบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะการเงินของประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการที่ประกอบจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากภาคการเงิน ภาคการศึกษา ภาคการพัฒนาสังคม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกระทรวงคลังที่สร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายกฤษฎา กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน จะครอบคลุมประชาชนทุกช่วงวัย โดยได้ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากความรุนแรงของสภาพปัญหา ได้แก่ กลุ่มผู้เปราะบางการเงินสูง กลุ่มผู้พิการ กลุ่มประชาชนฐานราก กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงวัย ความท้าทายเข้าถึงเป้าหมายเหล่านี้ ประกอบกับทรัพยากรของภาครัฐที่มีอยู่จำกัด ดังนั้นการกำหนดกลุ่มและพื้นที่เป้าหมายต้องแม่นยำ

“การพัฒนาความรู้และทักษะทางการเงิน ถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยสามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน สามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างรอบคอบ และมีเหตุผล สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการเงินที่เชื่อถือได้ สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเอง และสามารถวางแผนบริหารจัดการการเงินและการออมได้ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน นโยบายสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมทักษะให้ครัวเรือน” รมช.คลัง ระบุ

นายกฤษฎา กล่าวว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมทักษะ เพื่อแก้ไขปัญหาการเงินของครัวเรือนไทย ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เช่น นโยบายสร้างรายได้ เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และปรับฐานเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีภายในปี 2570 อีกทั้งมีนโยบายสนับสนุน Soft Power และในกลุ่มของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย จะช่วยพัฒนาและขยายช่องทางการจำหน่าย ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ รวมถึงสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับนโยบายลดรายจ่าย เช่น 1.การพักหนี้เกษตรกร ได้ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 2.698 ล้านราย เพื่อเป็นการลดภาระรายจ่ายให้กับเกษตรกร และขยายโอกาสในการประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไปพร้อม ๆ กัน และ 2.การลดค่าพลังงาน โดยช่วยให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงเหลือไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และการลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย โดยมีผลถึงสิ้นปี ซึ่งจะทำควบคู่กับการวางแผนแก้ปัญหาพลังงานระยะยาว

รวมถึงดูแลภาระค่าครองชีพ โดยเพิ่มทางเลือกในการบริโภคและกระจายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม เน้นให้บริโภคสินค้าในชุมชน สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ภาครัฐจะดูแลต้นทุนของเกษตรกร และต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ

ด้านนโยบายเสริมทักษะ เช่น มาตรการทางเศรษฐกิจแบบเจาะจง ตามความเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่หรือกลุ่มประชาชนหรือที่เรียกว่า Tailor-Made Policy ที่อาศัยประโยชน์จากการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายและนำส่งความช่วยเหลือได้มากขึ้น ทำให้การจัดสรรงบประมาณที่ภาครัฐมีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยมีระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินฯ นำไปสู่ระดับทักษะทางการเงินที่เพิ่มขึ้นของประชาชน และนำไปสู่สุขภาวะทางการเงิน (financial well-being) หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะช่วยสร้างความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป

สำหรับประโยชน์ของ Data-Driven Policy การดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ต้องอาศัยการบูรณาการการดำเนินงานของหลายภาคส่วน รวมทั้งการพัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่และการจัดทำนโยบายแบบเฉพาะเจาะจงตามความเหมาะสมหรือ Data-Driven Policy ตั้งแต่ระดับรากฐานของปัญหาที่เกิดขึ้น

นายกฤษฎา เชื่อว่า การดำเนินนโยบายหรือมาตรการ จะพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของปัญหาด้านการเงินที่เกิดขึ้นได้ในระดับบุคคล ครัวเรือน อำเภอ และจังหวัด ซึ่งนำไปสู่การออกนโยบายที่มีความสอดคล้องกับความต้องการเร่งด่วนของสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับการพัฒนาทักษะทางการเงินและ financial well-being ของประชาชน และนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ต.ค. 66)

Tags: ,