คลังจ่อทุ่ม 5 แสนล้านกระตุ้น GDP รับมือ “ทรัมป์” ถก ธปท.จัดซอฟต์โลนหนุนเอกชนแก้ปมธุรกิจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลประเมินสถานการณ์มาตรการภาษีของสหรัฐอย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการมาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตไว้ โดยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีขนาดใหญ่พอที่ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนอาจจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการ บริโภค และการลงทุนในประเทศ ตลอดจนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า เร็ว ๆ นี้กระทรวงการคลังจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาทิ เรื่องตลาดพันธบัตร ตลาดทุน และสภาพคล่องต่าง ๆ รวมถึงอาจจะมีการหารือเรื่องการจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับให้เอกชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีในครั้งนี้ จนธุรกิจสะดุด ซึ่งมองว่าจำเป็นที่จะต้องเตรียมเม็ดเงินในส่วนนี้เพื่อเข้าไปช่วยเหลือภาคธุรกิจ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรภาษีสหรัฐฯ ยังเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก

“เรื่องซอฟท์โลนเป็นประเด็นหนึ่งที่จะต้องคุยกับ ธปท. เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วจะต้องมีวงเงินสินเชื่อที่เตรียมไว้ให้เอกชน เพราะอาจจะมีการสะดุดแน่นอน และต้องมาดูเรื่องหลักเกณฑ์ให้ง่ายและผ่อนปรนกว่าช่วงที่ออกซอฟท์โลนโควิด ที่เงื่อนไขเข้มข้น แบงก์พิจารณาเข้มข้นมาก จนสุดท้ายเม็ดเงินที่เตรียมไว้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังนั้นซอฟท์โลนในรอบนี้จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในส่วนนี้ไปด้วย” แหล่งข่าว กล่าว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินตัวเลขผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปอะไรที่ชัดเจน โดยในส่วนของไทยเองขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลที่จะไปเจรจา ซึ่งสิ่งที่จะนำไปพูดคุยจะต้องเป็นของที่ใช้ได้จริง และสุดท้ายจะตกลงกันได้ที่ตรงไหน กระบวนการจะจบเมื่อไหร่ หลังจากนั้นจึงจะสามารถนำรายละเอียดมาใส่ในสมการเพื่อประเมินเป็นตัวเลขผลกระทบอีกครั้ง แต่รัฐบาลอยากให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยมีทีมเจรจาที่ดี ซึ่งจะยึดประโยชน์ของประเทศ ของผู้ประกอบการ และของเกษตรกรเป็นหลัก

ทั้งนี้ ยอมรับว่าสุดท้ายจะต้องมีการทบทวนตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2568 ใหม่ทั้งหมด แม้ว่าขณะนี้จะมีการปรับประมาณการจากหลาย ๆ สำนักแล้ว แต่มองว่าเป็นการประเมินที่ยังมีตัวแปรที่ไม่รู้ค่าชัดเจนอีกค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงอาจจะเป็นการประเมินที่มาจากการคาดการณ์ทั้งหมด โดยตามข้อเท็จจริงแล้วต้องเข้าใจว่าหากผลการเจรจากับสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ และได้รับผลกระทบเชิงลบ ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาพิจารณาว่าจะใช้กลไกอะไรในการเข้าไปช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บ้าง

“เบื้องต้นหากการเจรจาประสบผลสำเร็จ ก็ไม่ได้แปลว่าการเกินดุลทางการค้าของไทยกับสหรัฐฯ จะหายไป อย่างไรก็ตามไทยก็คงเกินดุลเหมือนเดิม แต่จะอยู่ในรูปแบบที่สมดุลมากขึ้น อาจจะมีการยื่นหมูยื่นแมว คือ ในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะต้องผ่อนคลายลง ส่วนสาเหตุที่ไทยชะลอการไปเจรจานั้น อย่างหนึ่งคือ ต้องดูว่าประเทศที่ไปเจรจาก่อนหน้ามีรีแอคชั่นกลับมาอย่างไร ซึ่งตรงนี้เราก็เริ่มเห็นในหลายประเทศ บางประเทศโดนปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดหนักมาก หนักกว่าไทย ทำให้ตรงนี้ไทยต้องกลับมาตีโจทย์ให้หนัก ๆ ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งต้องเป็นข้อสรุปที่ win win ทั้ง 2 ฝ่าย และรัฐบาลยังเชื่อมั่นว่าจะมีโอกาสจะวิกฤติครั้งนี้จริง ๆ ไม่ได้มองแบบปลอบใจรัวเอง เพียงแต่เราต้องหาโอกาสและใช้ช่องว่างที่มี ผ่อนเบาตรงไหนได้ก็ต้องเอา” นายจุลพันธ์ กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ นั้น รมช.การคลัง ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน ยังไม่ได้มีการพูดคุยในรายละเอียด แต่เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าจากสถานการณ์โลกตอนนี้ ทุกคนต้องโดนผลกระทบกันหมด มีความเสี่ยงสูงถึงขั้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่พลาดเป้าน่าจะเกิดขึ้นในหลาย ๆ จุดทั่วโลก แต่รัฐบาลก็ยังตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตเหมือนเดิม โดยจำเป็นต้องหากลไกอื่น ๆ เข้มมาเติม เช่น การขับเคลื่อนผ่านการลงทุน ซึ่งตรงนี้ต้องมาดูในรายละเอียด และต้องพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ส่วนราชการต่าง ๆ กระชับเรื่องการใช้เม็ดเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด อะไรที่ไม่จำเป็นก็ให้ลดลง อะไรที่พอประหยัดได้ก็ให้ประหยัด และสามารถปรับเปลี่ยน หมุนงบประมาณมาใช้ในเรื่องที่จะทำให้เกิดผลเกี่ยวกับการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น ตรงนี้เป็นโจทย์แรกที่จะต้องดำเนินการก่อน ดังนั้นการจะไปตั้งโจทย์ว่าจะต้องมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นสิ่งแรกนั้น รัฐบาลคงไม่ใช่วิธีคิดแบบนั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)

Tags: , , , , , ,